คปภ. ขับเคลื่อนการเปิดเผยข้อมูล ?ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล? สำหรับธุรกิจประกันภัย
นางสาวชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนามาตรฐานการกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้จัดทำกรอบแนวทาง เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย เพื่อส่งเสริมธุรกิจประกันภัยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยกรอบแนวทางฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจประกันภัยเข้าใจถึงความสำคัญของการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และสร้างความสามารถในการแข่งขัน สะท้อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนแสดงถึงบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจประกันภัยต่อผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ ผู้เอาประกันภัย คู่ค้า สังคมและชุมชน ตามกิจกรรมห่วงโซ่คุณค่าของการประกันภัย (Value chain) ในแต่ละมิติ ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้เอาประกันภัยและนักลงทุนที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อนำไปสู่การเพิ่มโอกาสและสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
ในการขับเคลื่อนการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจประกันภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสนับสนุนธุรกิจประกันภัย ในการปรับตัวให้เท่าทันกับมาตรฐานสากล แนวโน้มและทิศทางของทั่วโลกที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามพันธกิจของสำนักงาน คปภ. ภายใต้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 ที่มุ่งเน้นถึงการปรับตัวของธุรกิจให้เหมาะสมและเท่าทันกับมาตรฐานสากล ตลอดจนการมีบทบาทของธุรกิจประกันภัยในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบัน หน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยทั้งในประเทศและต่างประเทศกำลังให้ความสำคัญ และแสดงจุดยืนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน
สำหรับแนวทางการพัฒนากรอบการกำกับดูแลแนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลจากทั้งมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยสากล (International Association of Insurance Supervisors: IAIS) หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (Principles for Sustainable Insurance) มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) มาตรฐานการรายงานความยั่งยืน (Global Reporting Initiative Standards: GRI) และแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานในประเทศ เช่น แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1 One report) และคู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนจนได้ผลการศึกษาและพัฒนาเป็นกรอบแนวทาง เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยซึ่งประกอบด้วยแนวทางการเปิดเผยข้อมูลใน 3 มิติสำคัญ คือ
มิติแรก แนวทางการเปิดเผยข้อมูลในมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มิติที่ 2 แนวทางการเปิดเผยข้อมูลในด้านสังคม (Social) โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของความรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัย การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการประกันภัย ความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชน
มิติที่ 3 แนวทางการเปิดเผยข้อมูลในด้านธรรมาภิบาล (Governance) โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของนโยบาย โครงสร้าง และระบบกำกับดูแลกิจการ และจรรยาบรรณธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล การพัฒนานวัตกรรม การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน และการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
โดยสำนักงาน คปภ. ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยเห็นพ้องร่วมกันให้มีกรอบแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทประกันภัยต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการเผยแพร่กรอบแนวทาง เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ให้แก่บริษัทประกันภัย โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารดังกล่าวได้ที่ https://www.oic.or.th หัวข้อ แนวทางการกำกับ เรื่อง แนวทางการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทประกันภัย
ที่มา: http://www.oic.or.th