คปภ. ลงพื้นที่นำระบบประกันภัยส่งถึงมือ ชาวสวนกล้วยหอมทอง จังหวัดนครราชสีมา

ข่าวทั่วไป Friday August 23, 2024 13:44 —คปภ.

คปภ. ลงพื้นที่นำระบบประกันภัยส่งถึงมือ ชาวสวนกล้วยหอมทอง จังหวัดนครราชสีมา

นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 ?การประกันภัยกล้วยหอมทอง? โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ ณ หอประชุมอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา

สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตรกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยให้เป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ หรือการนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดหรือขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการประกันภัยพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ กล้วยหอมทอง

ดังนั้น ในปี 2567 จึงได้ลงพื้นที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสำรวจแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมทองรายใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลในพื้นที่สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) พบว่าอาชีพปลูกกล้วยหอมทองเริ่มจากการรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในปี 2559 เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาปลูกกล้วยหอมทอง เนื่องจากกล้วยหอมทองมีราคาดี และกลายมาเป็นบริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด ต่อมาในปี 2564 ผลิตและส่งออกกล้วยหอมทองได้มาตรฐาน GAP รวมถึงมีโรงคัดบรรจุตามระบบ GMP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของราคาจึงสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วย ประกอบกับมีบริษัทรับซื้อประกันราคาซื้อขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 19 บาท ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกล้วยหอมทอง ณ ปัจจุบันยังไม่เพียงพอในการส่งออก กล่าวคือผลิตและส่งออกได้แค่ 5,000 ตัน ในขณะที่ความต้องการมีถึง 8,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และภัยลมพายุ ซึ่งนับวันภัยต่าง ๆ จะทวีความรุนแรงมากขึ้นและยากต่อการป้องกัน ดังนั้น หากเกษตรกรได้นำระบบประกันภัยเข้าไปเป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงก็จะช่วยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

การลงพื้นของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้ นอกจากสำรวจแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมทองแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนาความรู้ด้านการประกันภัย หัวข้อ ?ชาวสวนกล้วยหอมทองอุ่นใจ ใช้ระบบประกันภัยคุ้มครอง? โดยมีการออกบูธนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัย และให้ความรู้ด้านการประกันภัย จากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย โดยมีเกษตรกรและชาวสวน ผู้ปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่ อำเภอเสิงสาง เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ