นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าสืบเนื่องจากในปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารโลก (The World Bank) ได้เริ่มการประกันภัยพืชผลโดยใช้ดัชนีน้ำฝนเป็นตัวชี้วัด เพื่อพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือและลดความเสี่ยงในการผลิตของเกษตรกรที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ให้ความคุ้มครองภัยแล้งสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูก ที่ อ.ปากช่อง จ. นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม - 13 ตุลาคม 2550 ในพื้นที่นำร่อง 962 ไร่ และในปี 2551 จะได้เริ่มดำเนินการขยายพื้นที่การรับประกันภัยเป็น 4 แห่ง คือ
1) อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เริ่มต้นความความคุ้มครองวันที่ 12 พ.ค. 51
2) อ.ชัยบาดาล จ. ลพบุรี เริ่มต้นความความคุ้มครองวันที่ 17 พ.ค. 51
3) อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ เริ่มต้นความความคุ้มครองวันที่ 18 พ.ค. 51
4) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เริ่มต้นความความคุ้มครองวันที่ 19 ,26 ก.ค. 51 และ 2 ส.ค. 51
นางจันทราฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าได้มีการปรับปรุงวิธีคิดค่าชดเชยเพื่อให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครองตามความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยใช้ดัชนีความแห้งแล้ง (Moving Dry Spell) ซึ่งวัดภาวะแห้งแล้งสะสมจริง ที่คำนวณได้กับดัชนีความแห้งแล้งสะสมที่กำหนดไว้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มเติมจากเดิมที่ใช้ดัชนีน้ำฝนสะสม (Cumulative Rainfall) ซึ่งวัดตามปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงโดยยึดตามดัชนีน้ำฝนที่วัดได้จริงจากสถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝนหลัก/สถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝนสำรอง และ ธ.ก.ส. ได้เริ่มมีการประชุมชี้แจงกับสมาชิกและเกษตรกรในเขตพื้นที่ที่จะขยายผล พบว่ามีการตอบสนองเป็นอย่างดี ทั้งนี้จะเริ่มได้เปิดตัวโครงการขยายผลการรับประกันภัยในต้นเดือนพฤษภาคม 2551
ที่มา: http://www.oic.or.th