นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกอบการทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และสินค้านั้นได้มีการขายให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้ประกอบการ” หมายความว่า 1) ผู้ผลิตหรือผู้ว่าจ้างให้ผลิต 2) ผู้นำเข้า 3)ผู้ขายสินค้าที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้าได้ 4) ผู้ซึ่งใช้ชื่อ ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมาย ข้อความหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ อันมีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิตหรือผู้นำเข้า
“ผู้เสียหาย” หมายความว่า ผู้ได้รับความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
“สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” หมายความว่า สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิต หรือการออกแบบ หรือไม่ได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้ารวมทั้งลักษณะการใช้งาน และการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้
สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งจะให้ความคุ้มครองสิทธิ ประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัย จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิด ตามกฎหมายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบใหม่เพื่อรองรับพระราชบัญญัติดังกล่าว และอัตราเบี้ยประกันภัยไว้เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการในการใช้เป็นหลักประกันเมื่อหากต้องมีความรับผิดต่อผู้เสียหายเกิดขึ้นจากการนำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไปใช้และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภค ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครอง ดังนี้
1. ความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย ของผู้เสียหาย
2. ความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้เสียหาย
3. ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ที่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ ดังนี้ 1. การขยายความคุ้มครองไปยังประเทศอื่นและเขตอำนาจศาล
2. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษตามที่ศาลเห็นสมควร ซึ่งนอกเหนือจากจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริง
3. ความเสียหายต่อจิตใจอันเป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายต่อร่างกายสุขภาพ อนามัยของผู้เสียหาย
3. การขยายระยะเวลาแจ้งการเรียกร้อง
4. การขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมผู้ขายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของผู้เอาประกันภัย สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยของการประกันภัยดังกล่าวนี้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์/สินค้ามีอยู่หลากหลายในปัจจุบัน จึงได้มีการจัดกลุ่มประภทของผลิตภัณฑ์เป็น 27 กลุ่ม ซึ่งได้มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยไว้เป็นช่วงขั้นต่ำ-ขั้นสูง โดยพิจารณากำหนดตามลักษณะความเสี่ยงภัยของแต่ละผลิตภัณฑ์
นางจันทราฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนให้เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการเร่งจัดทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้เป็นหลักประกันความรับผิดโดยการโอนความเสี่ยงภัยไปให้บริษัทประกันภัย หากเกิดความเสียหายขึ้นก็จะช่วยบรรเทาภาระทางการเงิน อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทประกันวินาศภัยพร้อมที่ จะรับทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าวแล้ว หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ โทร. 0-2547-4548 หรือสายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.oic.or.th