คปภ. และภาคธุรกิจเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

ข่าวทั่วไป Tuesday May 25, 2010 11:03 —คปภ.

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมบริเวณพื้นที่ราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงในช่วงเดือนเมษายน — พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานประกอบการ อาคาร ศูนย์การค้า และธนาคาร ฯลฯ ในกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย จำนวนทั้งสิ้น 35 แห่ง สำนักงาน คปภ. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อวางกรอบและหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยในเบื้องต้นพอสรุปได้ดังนี้

1. สำนักงาน คปภ. ได้มีการกำหนดเขตการรับประกันภัยในกรุงเทพมหานคร โดยจัดเป็นบล็อกประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 1,610 บล็อก ซึ่งแต่ละบล็อกจะมีข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการประกันภัย สามารถสืบค้นได้โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว ที่มีผลกระทบต่อพื้นที่รับประกันภัยแยกออกเป็นรายใหญ่และรายย่อยรวม 7 บล็อกหลัก และสามารถระบุการเอาประกันภัยของทรัพย์สินหรืออาคารที่ได้รับความเสียหายได้ นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้บริษัทประกันภัยสำรวจผลกระทบทั้งหมดจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

2. ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ ที่ได้รับรายงานมีการทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินไว้กับบริษัทประกันภัย จำนวน 30 บริษัท แต่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ ซื้อประกันภัยคุ้มครองภัยก่อการร้ายไว้เพียง 6 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย โดยบริษัทผู้สำรวจภัยรายใหญ่จากต่างประเทศร่วมกับผู้สำรวจภัยในประเทศของบริษัท ทั้งนี้ข้อมูลความเสียหาย ทั้งหมดจะสรุปได้ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2553 นี้

ทั้งนี้สำหรับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) /ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้มีทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักไว้ด้วย

3. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหาย ได้มีการทำประกันอัคคีภัย และประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน(IAR)ไว้ แต่ไม่ซื้อความคุ้มครองสำหรับภัยก่อการร้าย ดังนั้น สำนักงาน คปภ.จึงได้ขอความร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัย และบริษัทประกันวินาศภัย ให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย โดยพิจารณาเป็นรายๆไป โดยสรุปการดำเนินการ ดังนี้

3.1 สำรวจความเสียหาย โดยเน้นกลุ่มรายย่อย (ทุนประกันภัยไม่เกิน 5 ล้านบาท) ก่อนโดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2553 และจะสรุปรวบรวมความเสียหายทั้งหมดได้ภายใน วันที่ 10 มิถุนายน 2553 เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือ

3.2 ความช่วยเหลือจะพิจารณาเป็นรายๆไป โดยมีหลักเกณฑ์ให้บริษัทพิจารณาจำนวนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายของแต่ละบริษัท ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความสามารถและฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยด้วย

3.3 บริษัทจะเจรจากับบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีที่มิได้ซื้อความคุ้มครองภัยก่อการร้าย

3.4 ขอให้รัฐบาลใช้มาตรการทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับบริษัทประกันภัยในการให้ความช่วยเหลือ โดยสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณเงินได้ เพื่อเสียภาษีประจำปี

4. ในกรณีของการประกันชีวิต จากการสำรวจพบว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันชีวิต จำนวน 9 บริษัท รวมทั้งสิ้น 17 กรมธรรม์ มูลค่าผลประโยชน์มรณกรรมรวม 2.3 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186

ฝ่ายสื่อสารองค์กร

โทร : 0-2513-1680

โทรสาร : 0-2513-1437

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ