ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมกราคม 2554 ไม่ได้พุ่งอย่างที่สำนักต่างๆ คาดการณ์ไว้
กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเดือนมกราคม 2554 เท่ากับ 109.51 โดยสูงขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ร้อยละ 3.03 เป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และเทียบกับเดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.54 จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2554 ไม่ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างที่หน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ คาดการณ์ไว้ การปรับตัวของเศรษฐกิจไทยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี โดยการเปลี่ยนแปลง ดัชนีราคาผู้บริโภคแสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด มีส่วนช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2554 จะเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 3.2 - 3.7
ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค ได้รับผลกระทบมาจากหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.64 ไข่ไก่ สูงขึ้นร้อยละ 0.38 ผักสดสูงขึ้น ร้อยละ 10.97 ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 4.60 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.62 อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.25 และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดสูงขึ้นร้อยละ 1.02 นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 2.39 สำหรับสินค้าในหมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 0.15
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมกราคม 2554
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2554
ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมกราคม 2554 เท่ากับ 109.51 ( เดือนธันวาคม 2553 คือ 108.92 )
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2554 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.54
2.2 เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.03
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2554 เทียบกับ เดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.54 (เดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.16 ) โดยราคาสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม เนื้อสุกร ไก่สด เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและวัสดุก่อสร้าง ขณะที่ราคาสินค้าบางประเภทปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้บางชนิด ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.07 (เดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ0.18 ) สาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอาหารสด เช่น ข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.17 ผักและผลไม้ ร้อยละ 4.77 ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง มะเขือเจ้าพระยา ถั่วฝักยาว ต้นหอม กระเทียม กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน แตงโม องุ่น ฝรั่ง และส้มโอ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของผัก ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกส้มเขียวหวานลดลง ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.16 ( ไข่ไก่ นมข้นหวาน ครีมเทียม ) เนื้อสุกร ร้อยละ 0.12 ไก่สด ร้อยละ 2.18 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.62 ( น้ำตาลมะพร้าว ขนมหวาน น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าวขูด มะขามเปียก เครื่องปรุงรส ) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.25 ( เครื่องดื่มรสชอกโกแลต กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำผลไม้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ) สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเหนียว ร้อยละ 1.08 เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวสารเหนียวฤดูใหม่ออกสู่ตลาด ผักบางชนิด เช่น ผักชี มะเขือเทศสีดา มะละกอดิบ มะนาว พริกสด ถั่วลันเตา หัวผักกาดขาว ขิง หัวหอมแดง เป็นต้น
3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.23 ( เดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.36 ) สาเหตุสำคัญเป็นผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 2.39 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 1.02 ( ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน สารกำจัดแมลง ) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 1.85 เป็นผลจากการไฟฟ้านครหลวงได้ปรับลดค่า Ft ลง 5.67 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเริ่มตั้งแต่ เดือนมกราคม - เมษายน 2554 และ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.01 ( เบียร์ ไวน์ บุหรี่ )
4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.03 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 5.94 โดยดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 6.28 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.84 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.61 ผักและผลไม้ ร้อยละ 22.78 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 8.02 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.04 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 2.34 หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.34 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 2.09 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.10 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.49 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.70 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.18
5. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ( คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน มกราคม 2554 เท่ากับ 104.39 เมื่อเทียบกับ
5.1 เดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.17
5.2 เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.32
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนมกราคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 0.17 ( เดือนพฤศจิกายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.35 ) โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวทั้งสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าของใช้ส่วนบุคคล สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด วัสดุก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ
--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--