ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน ตุลาคม 2554

ข่าวทั่วไป Wednesday November 2, 2011 10:34 —กรมการค้าภายใน

ปัญหาอุทกภัยกระทบต่อราคาสินค้าบางประเภท แต่ไม่ทำให้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงมากนัก

จากการเกิดภาวะอุทกภัยอย่างร้ายแรงให้เดือนตุลาคม 2554 มีผลต่อสินค้าบางประเภท ได้แก่ ผักสด ไข่ไก่ เนื่องจากแหล่งผลิตเสียหาย แต่โดยภาพรวมยังไม่กระทบต่อภาวะเงินเฟ้อมากนัก เนื่องจากการเข้ามาดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดของกระทรวงพาณิชย์ และการที่อำนาจการซื้อของประชาชนลดลง

กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเดือนตุลาคม 2554 เท่ากับ 113.07 สูงขึ้นจากเดือนกันยายน 2554 ร้อยละ 0.19 และสูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2553 ร้อยละ 4.19 เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ยังไม่สูงมากนักจากการดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดของกระทรวงพาณิชย์ และเทียบเฉลี่ยระยะ 10 เดือน ( มกราคม - ตุลาคม 2554 กับช่วงระยะเดียวกัน ปี 2553 ) สูงขึ้นร้อยละ 3.79 ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2554 เท่ากับร้อยละ 3.2 -3.7 โดยมีปัจจัยเสื่ยงของภาวะเงินเฟ้อมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยว่าจะมีระยะเวลายาวนานแค่ไหน ซึ่งจะกระทบต่อแหล่งผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการขนส่งต่าง ๆ

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2554 สูงขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าหมวดต่าง ๆ ดังนี้ สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.54 (เทียบกับเดือนกันยายน 2554) เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมพื้นที่การผลิตรวมถึงระบบการขนส่ง โดยดัชนีหมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.63 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.69 ผักสด สูงขึ้นร้อยละ 15.24 เครื่องปรุงอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.33 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.16 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.19 ขณะที่สินค้าอาหารประเภทเนื้อสุกร ดัชนีลดลงร้อยละ 6.19 ผลไม้สด ลดลงร้อยละ 0.83 น้ำตาลทราย ร้อยละ 0.18 น้ำมันพืช ร้อยละ 0.12 สำหรับหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มดัชนีลดลงร้อยละ 0.03 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 0.64 เป็นสำคัญ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2554

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2554

ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนตุลาคม 2554 เท่ากับ 113.07 (เดือนกันยายน 2554 เท่ากับ 112.86 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2554 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกันยายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.19

2.2 เดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 4.19

2.3 เทียบเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม ) 2554 กับระยะเดียวกันของ ปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.79

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2554 เทียบกับเดือนกันยายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (เดือนกันยายน 2554 ลดลงร้อยละ 0.33) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ผักสด ข้าวสารเจ้า ไก่สด เนื้อสัตว์แปรรูป ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป และสินค้าอื่น เช่น วัสดุก่อสร้าง ค่าน้ำประปา หลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่าตรวจรักษาและค่ายา ค่าของใช้ส่วนบุคคล และสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ปลาน้ำจืดสด น้ำตาลทราย น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลไม้สดบางชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน แอ๊ปเปิ้ล รวมทั้ง น้ำมันเชื้อเพลิง และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.54 (เดือนกันยายน 2554 ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.65) สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.83 ไก่สด ร้อยละ 0.34 เป็ดไก่สำเร็จรูปและแปรรูป ร้อยละ 0.56 (เป็ดพะโล้ ไก่ย่าง) ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.64 (ปลาดุก ปลากะพง ปลาแดง ปลาทู กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ ปลาหมึกกล้วย หอยแครง หอยลาย หอยแมลงภู่ ปูม้า กบ) ปลาแปรรูป ร้อยละ 0.62 (ปลาทูนึ่ง ปลาช่อนแห้ง ปลาทูเค็ม ปลาอินทรีย์เค็ม ปลาหางแข็งเค็ม กุ้งแห้ง ลูกชิ้นปลา ปลาร้า) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.69 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม นมสด นมผง ครีมเทียม นมถั่วเหลือง เนยเทียม(มาการีน)) ผักสด ร้อยละ 15.24 (กะหล่ำปลี แตงกวา ผักกาดขาว ผักคะน้า เห็ด ผักบุ้ง ผักชี มะเขือเจ้าพระยา ถั่วฝักยาว บวบ ฟักเขียว ฟักทอง มะนาว พริกสด ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วลันเตา หัวผักกาดขาว ดอกกุ้ยฉ่าย) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.02 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.16 (เครื่องดื่มรสชอกโกแลต กาแฟผงสำเร็จรูป โซดา น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว ปลากระป๋อง อาหารตามสั่ง) เป็นต้น

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.03 (เดือนกันยายน 2554 ลดลงร้อยละ 0.96) ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงร้อยละ 0.64 เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.06 (เบียร์) ขณะที่ราคาสินค้าอื่น ๆ สูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.05 (เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดบุรุษ เสื้อกล้าม ถุงเท้าบุรุษ เสื้อแจ๊กเก็ตสตรี เสื้อยืดสตรี เสื้อยกทรง ผ้าถุง ผ้าอ้อมสำเร็จรูป รองเท้าแตะฟองน้ำบุรุษ รองเท้าแตะฟองน้ำสตรี วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.76 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 0.40 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.34 (ผงซักฟอก ก้อนดับกลิ่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง) ค่าตรวจรักษาและค่ายา ร้อยละ 0.07 (ยาแก้ไอ ยาแก้ไข้หวัด ยาลดกรดในกระเพาะ ยาคุมกำเนิด ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ถุงยางอนามัย ค่าตรวจรักษาโรค/ค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชน(คนไข้นอก)) ค่าของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.02 (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ใบมีดโกน กระดาษชำระ แป้งทาผิวกาย )

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 4.19 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 9.86 โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 1.72 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 11.40 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 7.14 ผักและผลไม้ ร้อยละ 15.49 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 15.13 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.92 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 9.80 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.75 จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.70 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.01 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.29 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.91

5. พิจารณาดัชนีเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม ) 2554 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.79 สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 7.62 ได้แก่ หมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 3.57 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 9.41 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 4.79 ผักและผลไม้ ร้อยละ 11.79 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 12.36 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 6.94 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.41 หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.51 น้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 8.71 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 5.11 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 2.58 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.66

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2554 เท่ากับ 106.83 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนกันยายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.07

6.2 เดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.89

6.3 เทียบเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม) ปี 2554 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.28

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.07 (เดือนกันยายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.10) โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการส่วนบุคคล ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ การบันเทิงและการอ่าน เป็นต้น

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5-3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนตุลาคม 2554 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ