ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน พฤศจิกายน 2554

ข่าวทั่วไป Friday December 2, 2011 10:46 —กรมการค้าภายใน

สถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้เงินเฟ้อโดยเฉลี่ยสูงขึ้นแต่ไม่มากนัก

อุทกภัยในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในเขตภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้แหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจำนวนมากได้รับผลกระทบ ผลผลิตเสียหายทำให้มีสินค้าออกสู่ตลาดน้อยลง รวมทั้งอุปสรรคทางด้านการขนส่งสินค้าทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงแรกของเดือน และการที่ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ และบางส่วนขาดรายได้ไม่ได้ทำงาน ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยสูงขึ้นไม่มากนัก รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามดูแลสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการขาดแคลนและการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า

กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2554 เท่ากับ 113.31 สูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2554 ร้อยละ 0.21 เป็นอัตราการสูงขึ้นไม่มากนักโดยสูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2553 ร้อยละ 4.19 เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเท่ากับเดือนที่ผ่านมา และเทียบเฉลี่ยระยะ 11 เดือน ( มกราคม - พฤศจิกายน 2554 กับช่วงระยะเดียวกัน ปี 2553 ) สูงขึ้นร้อยละ 3.83 ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2554 เท่ากับร้อยละ 3.2 - 3.8

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2554 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2554 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.53 และดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มดัชนีลดลงร้อยละ 0.01 โดยมีสินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าประเภทอาหารสดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เช่น ผักสด ไก่สด เนื้อโค ไข่และผลิตภัณฑ์นม และข้าวสารเจ้า ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง เช่น อาหารสดประเภท เนื้อสุกร น้ำตาลทราย และน้ำผลไม้ สำหรับสินค้าอื่นที่ไม่ใช่อาหาร ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เป็นต้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2554

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2554

ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤศจิกายน 2554 เท่ากับ 113.31 (เดือนตุลาคม 2554 เท่ากับ 113.07)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2554 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนตุลาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.21

2.2 เดือนพฤศจิกายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 4.19

2.3 เทียบเฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม - พฤศจิกายน ) 2554 กับระยะเดียวกันของ ปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.83

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2554 เทียบกับเดือนตุลาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (เดือนตุลาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.19) เป็นการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากผลกระทบภาวะน้ำท่วม ได้แก่ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักสด เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป และสินค้าอื่น เช่น วัสดุก่อสร้าง ค่าน้ำประปา สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่าตรวจรักษาและค่ายา ค่าบริการส่วนบุคคล เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขณะที่ราคาสินค้าบางประเภทปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ผลไม้สด ค่าของใช้ส่วนบุคคล น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เป็นต้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 0.53 (เดือนตุลาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.54) เป็นผลจากการปรับราคาสูงขึ้นของสินค้าประเภทข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.85 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.35 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.74 ผักสด ร้อยละ 5.57 (แตงกวา ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี มะเขือเจ้าพระยา บวบ มะนาว พริกสด ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วลันเตา ดอกกุ้ยฉ่าย) เนื่องจากแหล่งผลิตบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.09 (น้ำมันพืช น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.15 (เครื่องดื่มรสชอกโกแลต กาแฟผงสำเร็จรูป ชา น้ำอัดลม น้ำดื่มบริสุทธิ์ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง) และอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น ร้อยละ 0.10 (ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง อาหารเช้า ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง)

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง ร้อยละ 0.01 (เดือนตุลาคม 2554 ลดลงร้อยละ 0.03) สาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.06 และค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษลดลง ร้อยละ 46.76 เนื่องจากการยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ค่าของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.02 (สบู่ถูตัว แชมพูสระผม ผ้าอนามัย) ขณะที่ราคาสินค้าอื่น ๆ สูงขึ้น ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.78 (แผ่นไม้อัด กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา ปูนซีเมนต์ อิฐ) ค่าน้ำประปา ร้อยละ 0.36 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.37 (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน ไม้กวาด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น(น้ำยาถูพื้น) สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง) ค่ายาและเวชภัณฑ์ ร้อยละ 0.13 (ยาแก้ไข้หวัด ยาฆ่าเชื้อรา ยาลดกรดในกระเพาะ ยาขับลม ยาคุมกำเนิด ยาวิตามินบีคอมเพล็กซ์ ยาหอม ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ พลาสเตอร์ยา ถุงยางอนามัย) ค่าบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.40 (ค่าแต่งผมชาย ค่าดัดผมสตรี ค่าแต่งผมสตรี) เครื่องถวายพระ ร้อยละ 0.71

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนพฤศจิกายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 4.19 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 10.21 โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น ร้อยละ 1.86 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 10.84 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 9.83 ผักและผลไม้ ร้อยละ 17.11 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 14.47 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.06 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 9.91 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 0.54 จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.81 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.96 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.42 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.82

5. พิจารณาดัชนีเฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม - พฤศจิกายน ) 2554 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.83 สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 7.85 ได้แก่ หมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 3.41 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 9.53 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 5.25 ผักและผลไม้ ร้อยละ 12.30 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 12.55 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 7.20 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.47 หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 1.42 น้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 7.80 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 4.80 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 3.06 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.67

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2554 เท่ากับ 106.86 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนตุลาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.03

6.2 เดือนพฤศจิกายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.90

6.3 เทียบเฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม - พฤศจิกายน) ปี 2554 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.33

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2554 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.03 (เดือนตุลาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.07) โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ค่าน้ำประปา สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการส่วนบุคคล เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน บริภัณฑ์อื่นๆ(ตู้เย็น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องซักผ้า) และเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนพฤศจิกายน 2554 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ