สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติส่งผลให้เงินเฟ้อลดลง
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ราคาสินค้าบริโภคอุปโภค ลดลง โดยเฉพาะราคาสินค้าอาหารสดประเภทผักสด ผลไม้ ไข่ไก่ ไก่สด ประกอบกับ เป็นช่วงฤดูหนาว สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตมีปริมาณมากขึ้น และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในประเทศลดลงตามภาวะตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตการขนส่งลดลง รวมถึงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนของรัฐบาล และการดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดของ กระทรวงพาณิชย์ ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงจาก เดือนที่ผ่านมา
กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2554 เท่ากับ 112.77 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ร้อยละ 0.48 เทียบกับเดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.53 และเทียบเฉลี่ยทั้งปี 2554 กับปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.81 ซึ่งอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2554 ของกระทรวงพาณิชย์ร้อยละ 3.2 - 3.8
การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนธันวาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือน พฤศจิกายน 2554 โดยเฉลี่ยลดลงผลจากการลดลงของราคาสินค้าอาหารสดเป็นสำคัญ สาเหตุเนื่องจาก เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง โดยดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลง ร้อยละ1.20 สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ผักสด ไก่สด ไข่ไก่ และ ข้าวสารเหนียว สำหรับหมวดสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ราคาสินค้าอื่นบางประเภทมีราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เตารีด เครื่องซักผ้า ของใช้ส่วนบุคคล เช่น ยาสีฟัน แปรงสีฟัน และแป้งผัดหน้า เป็นต้น
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2554 และปี 2554
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2554
ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนธันวาคม 2554 เท่ากับ 112.77 (เดือนพฤศจิกายน 2554 เท่ากับ 113.31)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2554 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤศจิกายน 2554 ลดลงร้อยละ 0.48
2.2 เดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.53
2.3 เฉลี่ยทั้งปี 2554 เทียบกับปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.81
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2554 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2554 ลดลงร้อยละ 0.48 (เดือนพฤศจิกายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.21) จากสาเหตุการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าประเภทอาหารสด เช่น ผักสด ผลไม้สด ไข่ไก่ ไก่สด และข้าวสารเหนียว ทั้งนี้เนื่องจากเริ่มกลับ เข้าสู่ภาวะปกติ และ สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย สินค้าอื่นๆ ที่มีราคาลดลงได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด ขณะที่ราคาสินค้าบางประเภทมีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป ค่าที่พักอาศัย วัสดุก่อสร้าง สิ่งที่ใช้ทำความสะอาด ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าอุปกรณ์เกี่ยวกับยานพาหนะ ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลง ร้อยละ 1.20 (เดือนพฤศจิกายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.53) จากการลดลงของราคาสินค้าประเภทข้าวสารเหนียว ร้อยละ 0.87 เป็ด ไก่สด ร้อยละ 0.38 ไข่ ร้อยละ 12.79 ผักสด ร้อยละ 19.36 (แตงกวา ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี ผักกาดขาว มะเขือเจ้าพระยา มะนาว พริกสด ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วลันเตา) ผลไม้ลดลง ร้อยละ 2.43 (ส้มเขียวหวาน แอ๊บเปิ้ล ทุเรียน) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำผลไม้) ลดลงร้อยละ 0.04 สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต เช่น ข้าวสาร เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์น้ำตาล น้ำอัดลม และอาหารสำเร็จรูป
3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนพฤศจิกายน 2554 ลดลงร้อยละ 0.01) ขณะที่มีราคาสินค้าสำคัญเคลื่อนไหวคือ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.69 และค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษสูงขึ้น ร้อยละ 87.81 เนื่องจากเริ่มจัดเก็บค่าผ่านทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใหม่ (ทางด่วนขั้น 1, 2 และโทลเวย์) และราคาสินค้าอื่นๆ ที่ สูงขึ้น ได้แก่ ค่าเช่าบ้านสูงขึ้น ร้อยละ 0.01 วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.09 (แผ่นไม้อัด กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา อิฐ) ค่าน้ำประปาร้อยละ 0.54 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดสูงขึ้น ร้อยละ 0.16 (น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน ไม้กวาด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น(น้ำยาถูพื้น) สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง) ค่ายาและเวชภัณฑ์ ร้อยละ 0.1 (ยาแก้ไข้หวัด ยาฆ่าเชื้อรา ยาคุมกำเนิด ยาวิตามินบีคอมเพล็กซ์ ยาหอม ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ถุงยางอนามัย) ค่าอุปกรณ์ยานพาหนะสูงขึ้น ร้อยละ 1.04 (ยางรถยนต์ แบตเตอรี่รถยนต์ ) และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น ร้อยละ 0.14
4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.53 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 9.09 โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น ร้อยละ 1.98 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 11.92 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 5.62 ผักและผลไม้ ร้อยละ 14.10 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 12.94 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.17 และอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น ร้อยละ 8.72 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 0.17 จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.74 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.11 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.27 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.74
5. พิจารณาดัชนีเฉลี่ยทั้งปี 2554 เทียบกับปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.81 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 7.96 ได้แก่ หมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 3.29 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 9.74 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 5.28 ผักและผลไม้ ร้อยละ 12.46 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 12.59 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 7.33 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.52 หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 1.32 น้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 6.69 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 4.76 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 3.47 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.65
6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2554 เท่ากับ 106.98 เมื่อเทียบกับ
6.1 เดือนพฤศจิกายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.11
6.2 เดือนธันวาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.66
6.3 เฉลี่ยทั้งปี 2554 เทียบกับปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.36
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.11 (เดือนพฤศจิกายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.03) โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าน้ำประปา สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่ายาและเวชภัณฑ์ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ บริภัณฑ์อื่นๆ (ตู้เย็น เครื่องซักผ้า) และเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น
เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนธันวาคม 2554 และ เฉลี่ยปี 2554 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย
7. ดัชนีราคาผู้บริโภคปี 2554 และคาดการณ์ปี 2555
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศปี 2554 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 3.81 เป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าเกษตรกรรมและน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้สูงขึ้น และหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 และ 2 แม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายงดเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันช่วงครึ่งหลังของไตรมาสที่ 3 และผลจากการปรับลดมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน เช่น การลดการอุดหนุน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา มีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และไตรมาสที่ 4 ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เกิดภาวะอุทกภัยอย่างรุนแรง ทำให้ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพสูงขึ้นตามความต้องการ โดยเฉพาะราคาสินค้าหมวดอาหารสดมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับความเสียหายในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งอุปสรรคในการขนส่งสินค้าทำให้ต้นทุน การขนส่งสูงขึ้น และในเดือนธันวาคมภาวะน้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้อัตราเงินเฟ้ออ่อนตัวลง
ในปี 2555 กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.8 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานคือ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 29-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบ เท่ากับ 95-115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไป
--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--