ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน มกราคม 2555

ข่าวทั่วไป Wednesday February 1, 2012 14:14 —กรมการค้าภายใน

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2555 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเดือน ( มกราคม 2554 ) เป็นอัตราเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัวลงตามการฟื้นตัวของประเทศที่อยู่ในช่วงเยียวยาหลังภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรง โดยราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนหลายชนิดชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2554 ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.39 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลกและการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามนโยบายรัฐบาล และจากการปรับต้นทุนค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปาสูงขึ้น นอกจากนี้ วัสดุก่อสร้าง สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลราคามีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ขณะที่ราคาอาหารสดประเภท เนื้อสุกร ไก่สด ผักและผลไม้ ไข่ไก่ ปลาและสัตว์น้ำบางชนิดมีราคาลดลง ถึงแม้ว่าในสัปดาห์สุดท้ายจะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนแต่อาหารสดมีราคาสูงขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 2555 เท่ากับร้อยละ 3.30 - 3.80 ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ระหว่าง 95 - 115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 29 - 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไป โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าจากผลกระทบด้านภาวะเศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมกราคม 2555

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2555

ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมกราคม 2555 เท่ากับ 113.21 ( เดือนธันวาคม 2554 เท่ากับ 112.77 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2555 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.39

2.2 เดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 3.38

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2555 เทียบกับเดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.39 ( เดือนธันวาคม 2554 ลดลงร้อยละ 0.48 ) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก และการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามนโยบายรัฐบาล โดยดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 6.48 และจากการสูงขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ตามต้นทุนการผลิต รวมถึงการสูงขึ้นของราคาค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง( อิฐ) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ค่ายาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น สำหรับอาหารบางประเภทมีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสาร ปลาน้ำทะเลสด นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องปรุงอาหารและอาหารสำเร็จรูป ขณะที่สินค้าอาหารสดประเภท เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ ผักและผลไม้ ปลาน้ำจืดสด มีราคาลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลง ร้อยละ 0.21 ( เดือนธันวาคม 2554 ลดลงร้อยละ 1.20 ) จากการลดลงของราคาสินค้าประเภทเนื้อสุกร ร้อยละ 2.27 ไก่สด ร้อยละ 0.62 ไข่ ร้อยละ 11.65 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) เนื่องจากมีปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ผักสดลดลง ร้อยละ 4.70 (กะหล่ำปลี แตงกวา ผักคะน้า เห็ด ผักบุ้ง ผักชี มะเขือเจ้าพระยา ถั่วฝักยาว บวบ ฟักเขียว ฟักทอง พริกสด ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วลันเตา หัวผักกาดขาว ถั่วงอก ขิง ตำลึง ) และผลไม้สดลดลง ร้อยละ 0.91 (ส้มเขียวหวาน สับปะรด แตงโม แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง ชมพู่ ลำไย ลองกอง) เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเป็นช่วงฤดูกาลของผักและผลไม้หลายชนิด ทำให้มีปริมาณออกสู่ตลาดมากขึ้น สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นตามต้นทุน เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวเหนียว นมและผลิตภัณฑ์นม ปลาน้ำทะเลสด เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.79 (เดือนธันวาคม 2554 ไม่เปลี่ยนแปลง) โดยสินค้าสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวคือ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 6.48 ค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.01 วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.18 ( อิฐ ) ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 1.95 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 0.51 ก๊าซหุงต้ม ร้อยละ 0.01 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.34 ( ผงซักฟอก ก้อนดับกลิ่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า(น้ำยาซักแห้ง) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น (น้ำยาถูพื้น) สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง ) ค่ายาและเวชภัณฑ์ ร้อยละ 0.01 ( ยาแก้ปวดลดไข้ ยาคุมกำเนิด ) ค่าของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.22 (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แชมพูสระผม ลิปสติก แปรงสีฟัน กระดาษชำระ ครีมนวดผม ผ้าอนามัย น้ำยาระงับกลิ่นกาย แป้งทาผิวกาย) เครื่องรับโทรทัศน์ ร้อยละ 0.03 และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.03 ( เบียร์ ไวน์ สุรา )

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 3.38 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 7.70 โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น ร้อยละ 2.34 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 10.52 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.30 ผักและผลไม้ ร้อยละ 6.21 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 12.26 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.15 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 9.22 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 0.73 จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.20 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.08 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.75 และหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.26

5. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ)

คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมกราคม 2555 เท่ากับ 107.26 เมื่อเทียบกับ

5.1 เดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.26

5.2 เดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.75

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมกราคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.26 (เดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.11) โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่ายาและเวชภัณฑ์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ บริภัณฑ์อื่นๆ (พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) เป็นต้น

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนมกราคม 2555 และยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ