ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน มีนาคม 2556 และไตรมาสแรกของปี 2556

ข่าวทั่วไป Wednesday April 3, 2013 14:20 —กรมการค้าภายใน

อัตราเงินเฟ้อของประเทศเดือนมีนาคม 2556 ยังขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนมีนาคม 2556 เท่ากับ 104.73 (ปี 2554 = 100) เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.07 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2555 สูงขึ้น ร้อยละ 2.69 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง (เดือนกุมภาพันธ์ 2556 สูงขึ้นร้อยละ 3.23) และเฉลี่ยเดือนมกราคม - มีนาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 3.09 ซึ่งเป็นไปตามภาวะการบริโภคและอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ เนื่องจากแรงกดดันต่อเงินเฟ้อด้านราคาสินค้าไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ประกอบกับภาครัฐยังคงมาตรการดูแลและควบคุมราคาสินค้าและพลังงาน ซึ่งเป็นไปตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของภาครัฐ โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2556 ยังอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ระหว่าง ร้อยละ 2.80 - 3.40

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ ได้แก่ หมวดผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.80 เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาภาวะแห้งแล้ง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตการเกษตรบางประเภทปรับตัวลดลง และกดดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เนื้อสุกร ไก่สด และไข่มีราคาลดลง เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ความต้องการในการบริโภคลดลงเนื่องจากสถานศึกษา ปิดภาคเรียน นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับราคาลดลงตามการส่งเสริมการจำหน่าย

สำหรับดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีลดลงร้อยละ 0.04 จากการลดลงของราคา ขายปลีกโดยเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิง โดยดัชนีลดลงร้อยละ 0.40 และค่าของใช้ส่วนบุคคล เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม ผ้าอนามัย กระดาษชำระมีราคาลดลงเช่นกัน ในขณะที่หมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.12 จากการสูงขึ้นของ สุรา เบียร์ และไวน์ เป็นต้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน มีนาคม 2556

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 450 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2556

ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2556 เท่ากับ 104.73 (เดือนกุมภาพันธ์ 2556 เท่ากับ 104.66)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2556 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.07

2.2 เดือนมีนาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.69

2.3 เทียบเฉลี่ย 3 เดือน (มกราคม - มีนาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 3.09

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2556 เทียบกับ เดือนกุมภาพันธ์ 2556 สูงขึ้น ร้อยละ 0.07 (เดือนกุมภาพันธ์ 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.21) จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.26 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.04

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.26 (เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ลดลงร้อยละ0.08) สาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาผักและผลไม้ ร้อยละ 2.80 โดยเฉพาะหมวดผักสด ดัชนี สูงขึ้นร้อยละ 4.22 (มะนาว ผักชี ต้นหอม ผักคะน้า มะเขือ มะระจีน ฟักทอง เป็นต้น) เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง และหมวดผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 2.14 (แก้วมังกร ลองกอง ทุเรียน องุ่น มะม่วง ส้มเขียวหวาน เป็นต้น) นอกจากนี้สินค้าต่างๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ สินค้า กลุ่มข้าว สูงขึ้นร้อยละ 0.05 (ข้าวสารเหนียว) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.74 (ปลาทู ปลาโอ ปลาตะเพียน ปลาจะละเม็ด กุ้งนาง หอยแครง หอยแมลงภู่) ในขณะที่หมวดอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารบริโภค-ในบ้าน ลดลงร้อยละ 0.05 (อาหารโทรสั่ง(delivery) ปลากระป๋อง) อาหารบริโภค-นอกบ้าน ลดลง ร้อยละ 0.18 (อาหารแบบตะวันตก) นอกจากนี้หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 0.49 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมเปรี้ยว นมข้นหวาน นมสด) สินค้ากลุ่มเครื่องปรุงอาหาร ลดลงร้อยละ 0.25 (น้ำมันพืช มะขามเปียก เครื่องปรุงรส ซีอิ๊ว) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.01 (เครื่องดื่มรสชอกโกแลต เครื่องดื่ม บำรุงกำลัง น้ำผลไม้ น้ำอัดลม)

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.04 (เดือนกุมภาพันธ์ 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.36) จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกโดยเฉลี่ยในประเทศ ร้อยละ 0.40

ตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้สินค้าและบริการอื่นที่มีราคาลดลง ได้แก่ ค่าของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.13 (กระดาษชำระ ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว ยาสีฟัน) ในขณะที่หมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.12 (สุรา เบียร์ ไวน์) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.09 จากการสูงขึ้นของกลุ่มการบันเทิงและการอ่าน สูงขึ้นร้อยละ 0.17 (ค่าเช่าสระว่ายน้ำ) และค่าใช้จ่ายในการเดินทางโอกาสพิเศษและท่องเที่ยว สูงขึ้นร้อยละ 0.26 (ค่าทัศนาจรต่างประเทศ ค่าทัศนาจรภายในประเทศ) นอกจากนี้ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.01 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์รองเท้า ร้อยละ 0.04 (รองเท้าแตะฟองน้ำบุรุษ และสตรี )

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนมีนาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.69 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.66 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 0.64 หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 6.63 ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 9.01

เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.49 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.88 และอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 1.56 สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.01 จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 3.14 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.54 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นร้อยละ 1.12 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.38

หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 7.57 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.67

5. พิจารณาดัชนีเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2556 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 3.09 สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 4.01 และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.46 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.55 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.06 ผักและผลไม้ ร้อยละ 12.00 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.49 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.12 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 2.34 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.83 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 10.98 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 19.02 ค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.35 หมวดยานพาหนะ ร้อยละ 1.08 และน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 5.57

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 312 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 138 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม 2556 เท่ากับ 102.87 เมื่อเทียบกับ

5.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ลดลงร้อยละ 0.01

5.2 เดือนมีนาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.23

5.3 เทียบเฉลี่ย 3 เดือน (มกราคม - มีนาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555

สูงขึ้นร้อยละ 1.47

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ลดลงร้อยละ 0.01 (เดือนกุมภาพันธ์ 2556 สูงขึ้น ร้อยละ 0.09) จากการลดลงของราคาสินค้าและบริการ ได้แก่ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า ผงซักฟอก) ค่าของใช้ส่วนบุคคล (กระดาษชำระ ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว ยาสีฟัน) สำหรับสินค้าและบริการที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง (อิฐ ปูนซิเมนต์ สีน้ำพลาสติก ) ค่ายาและเวชภัณฑ์ (ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไข้หวัด ยาหอม ถุงยางอนามัย) ค่าตรวจรักษาพยาบาล (ค่าตรวจรักษาโรค/ค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชน (คนไข้นอก) ) เป็นต้น

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนมีนาคม 2556 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ