ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ พฤษภาคม 2556

ข่าวทั่วไป Tuesday June 4, 2013 13:25 —กรมการค้าภายใน

อัตราเงินเฟ้อของประเทศเดือนพฤษภาคม 2556 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2556 เท่ากับ 105.15 (ปี 2554 = 100) เทียบกับเดือนเมษายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.24 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.27 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง (เดือนเมษายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.42)

และเฉลี่ยเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.80 ซึ่งยังอยู่ในขอบล่างที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ระหว่าง ร้อยละ 2.80 - 3.40 เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศ ปรับราคาลดลง ในขณะที่สินค้าหมวดอาหารยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาจากภาวะดินฟ้าอากาศ และความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดภาคเรียน นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมาตรการดูแลค่าครองชีพและควบคุมต้นทุนด้านราคาสินค้าและพลังงานตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของภาครัฐ ส่งผลให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อไม่ได้สูงมากนัก

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค ยังคงสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ตามการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ ปัจจัยหลักเป็นผล มาจากการปรับราคาสูงขึ้นของหมวดผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.39 สาเหตุสำคัญเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหายจากการเน่าเสีย ประกอบกับปริมาณน้ำในหน้าแล้งไม่เพียงพอต่อ การเพาะปลูก จึงทำให้ปริมาณสินค้าที่เข้าสู่ตลาดลดลงและส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับราคาสินค้าประเภทไข่ และไก่สด มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ผลผลิตลดลง ประกอบกับสถานศึกษาเปิดภาคเรียน ทำให้ความต้องการบริโภคสูงขึ้น นอกจากนี้ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่เครื่องประกอบอาหารมีราคาลดลง

สำหรับหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีลดลงร้อยละ 0.10 (-0.10) จากการลดลงของหมวดเคหสถานเป็นสำคัญ โดยดัชนีลดลงร้อยละ 0.21 เนื่องจากมีการปรับลดค่า Ft ของค่ากระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ หมวดอื่นๆ ที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงจากราคาขายปลีกโดยเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 0.35และหมวดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโอกาสพิเศษและท่องเที่ยว ลดลงร้อยละ 0.41โดยเฉพาะค่าทัศนาจรภายในประเทศและต่างประเทศลดลง เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจึงมีการปรับโปรโมชั่นให้ราคาถูกลง ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลมีราคาสูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน พฤษภาคม 2556

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 450 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2556

ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤษภาคม 2556 เท่ากับ 105.15 (เดือนเมษายน 2556 เท่ากับ 104.90)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนเมษายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.24

2.2 เดือนพฤษภาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.27

2.3 เทียบเฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.80

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2556 เทียบกับ เดือนเมษายน 2556 สูงขึ้น ร้อยละ 0.24 (เดือนเมษายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.16) จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.87 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.10

3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.87 (เดือนเมษายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 1.12) สาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาหมวดผักและผลไม้ ร้อยละ 4.39 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหายจากการเน่าเสีย ประกอบกับปริมาณน้ำในหน้าแล้งไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงทำให้ปริมาณสินค้าที่เข้าสู่ตลาดลดลงและส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะหมวดผักสด ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 8.37 (ผักกาดหอม ขึ้นฉ่าย ผักชี พริกสด มะเขือเทศ ผักคะน้า ฟักเขียว กะหล่ำดอก ) และ หมวดผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 0.92 (ทุเรียน ส้มเขียวหวาน ลองกอง ชมพู่ องุ่น มะพร้าวอ่อน) นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดไข่ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 8.79 จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และ สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ผลผลิตลดลง ประกอบกับสถานศึกษาเปิดภาคเรียน ทำให้ความต้องการบริโภคสูงขึ้น หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.60 (เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู เนื้อโค ไก่ย่าง ไก่สด ปลาช่อน ปลากะพง กุ้งขาว ปลาหมึกกล้วย ปูม้า หอยแครง) หมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น ร้อยละ 0.20 (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า เต้าหู้ เส้นก๋วยเตี๋ยวสด อาหารธัญพืช ขนมอบ) หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.17 (น้ำอัดลม น้ำผลไม้ กาแฟ (ร้อน/เย็น) ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร เครื่องดื่มรสชอกโกแลต) หมวดอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.16 (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) อาหารบริโภค- นอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (อาหารเช้า อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)) ในขณะที่หมวดเครื่องประกอบอาหาร ได้แก่ เครื่องปรุงอาหาร ลดลงร้อยละ 0.12 (กะทิสำเร็จรูป) เครื่องปรุงรส ลดลงร้อยละ 0.31 (ซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรส มะขามเปียก)

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.10 (เดือนเมษายน 2556 ลดลงร้อยละ 0.33) จากการลดลงของหมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.21 เนื่องจากมีการปรับลดค่า Ft ของค่ากระแสไฟฟ้าระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2556 เท่ากับ 46.92 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมของเดือนมกราคม - เมษายน 2556 เท่ากับ 52.04 สตางค์ต่อหน่วยเป็นสำคัญ นอกจากนี้ สิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน (ผ้าปูที่นอน) และ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า น้ำยาถูพื้น) มีราคาลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีสินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 0.35 (น้ำมันเบนซิน 95, แก๊สโซฮอล์ 91,95, E20 และ E85) จากการลดลงของราคาขายปลีกโดยเฉลี่ยภายในประเทศ ตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก และหมวดการบันเทิงและการอ่าน ลดลงร้อยละ 0.27 (เครื่องรับโทรทัศน์ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโอกาสพิเศษและท่องเที่ยว) ในขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.47 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้าประเภทเสื้อผ้าบุรุษ ร้อยละ 0.31 (เครื่องแบบนักเรียนมัธยมศึกษาชาย เครื่องแบบอุดมศึกษาชาย เสื้อบุรุษ กางเกงบุรุษ ถุงเท้าบุรุษ) เสื้อผ้าสตรี ร้อยละ 0.21 (เครื่องแบบนักเรียนมัธยมหญิง เครื่องแบบอุดมศึกษาหญิง กางเกงชั้นในสตรี ผ้าถุง) เครื่องแบบเด็ก สูงขึ้นร้อยละ 9.20 (เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล) ผลิตภัณฑ์รองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.28 (รองเท้าแตะฟองน้ำบุรุษและสตรี รองเท้านักเรียนหนังเด็กชาย รองเท้าผ้าใบนักเรียนเด็ก) สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.01 จากการสูงขึ้นของค่าตรวจรักษาและค่ายา ร้อยละ 0.03 (ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดลดไข้ ยาคุมกำเนิด ค่าเอกซเรย์) และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.01 (กระดาษชำระ ผ้าอนามัย แปรงสีฟัน สบู่ถูตัว ยาสีฟัน ลิปสติก ค่าโกรกผม ค่าจัดฟัน)

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนพฤษภาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.27 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.59 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น ร้อยละ 1.04 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 4.81 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 4.52 ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 12.80 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.44 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.20 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.14 สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.60 จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.86 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 2.89 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นร้อยละ 0.94 หมวดพาหนะ การขนส่ง และ การสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.57 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.42 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 7.32

5. พิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ย 5 เดือนของปี 2556 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.80 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.95 และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.09 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.69 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.64 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 3.05 ผักและผลไม้ ร้อยละ 12.40 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.48 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.82 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.98 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.80 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 3.15 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.09 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.48 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.56 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 7.51

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 312 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 138 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2556 เท่ากับ 102.98 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนเมษายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.05

6.2 เดือนพฤษภาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.94

6.3 เทียบเฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.30

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.05 (เดือนเมษายน 2556 ลดลงร้อยละ 0.06) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการ ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เครื่องแบบนักเรียนมัธยมศึกษาชาย-หญิง เครื่องแบบอุดมศึกษาชาย-หญิง เสื้อบุรุษ กางเกงบุรุษ ถุงเท้าบุรุษ กางเกงชั้นในสตรี ผ้าถุง เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล รองเท้าแตะฟองน้ำบุรุษและสตรี รองเท้านักเรียนหนังเด็กชาย รองเท้าผ้าใบนักเรียนเด็ก) นอกจากนี้ สินค้าและบริการอื่นๆที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล จากการสูงขึ้นของค่าตรวจรักษาและค่ายา (ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดลดไข้ ยาคุมกำเนิด ค่าเอกซเรย์-คนไข้นอก) และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (กระดาษชำระ ผ้าอนามัย แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ลิปสติก) สำหรับสินค้าและบริการที่ราคาลดลง ได้แก่ หมวดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโอกาสพิเศษและท่องเที่ยว (ค่าทัศนาจรภายในประเทศ และต่างประเทศ)

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนพฤษภาคม 2556 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ