ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ กรกฎาคม 2556

ข่าวทั่วไป Friday August 2, 2013 14:34 —กรมการค้าภายใน

เงินเฟ้อของประเทศเดือนกรกฎาคม 2556 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนกรกฎาคม 2556 เท่ากับ 105.42 (ปี 2554 = 100) เทียบกับเดือนมิถุนายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.10 และเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.00 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง (เดือนมิถุนายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.25) และเทียบเฉลี่ยเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.60 โดยเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาอาหารสดเริ่มปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับปกติตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะราคาผัก ผลไม้หลายชนิด รวมถึงราคาไข่ไก่ ปรับลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์มีราคาสูงขึ้นไม่มากนัก นอกจากนี้ สินค้าอุปโภคหลายรายการ ได้แก่ ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว กระดาษชำระ แปรงสีฟัน ผลิตภัณฑ์และป้องกันบำรุงผิว มีการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการจำหน่ายทำให้ราคาปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นไม่มากนัก ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 7 เดือนต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ภาครัฐยังคงมาตรการดูแลด้าน ค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งทำให้ภาวการณ์ใช้จ่ายด้านการบริโภคภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค ยังคงสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ตามการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.28 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาตลาดโลก นอกจากนี้ สินค้าและบริการอื่นๆ ที่ปรับราคาสูงขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า ค่าเช่าบ้าน ปูนซิเมนต์ แผ่นไม้อัด เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่สินค้าประเภทค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ได้แก่ ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว กระดาษชำระ แปรงสีฟัน ผลิตภัณฑ์และป้องกันบำรุงผิว มีราคาปรับลดลงเล็กน้อยตามการส่งเสริมการจำหน่าย สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีลดลงร้อยละ 0.21 จากการลดลงของราคา สินค้าหมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม หมวดผักและผลไม้เป็นสำคัญ โดยดัชนีลดลงร้อยละ 1.72 และ 1.69 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นฤดูการผลิต ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สินค้าประเภทอื่นๆ ที่มี ราคาลดลง ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหาร ได้แก่ น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีการปรับราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร เนื้อโค ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ เป็นต้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2556

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 450 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2556

ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกรกฎาคม 2556 เท่ากับ 105.42 (เดือนมิถุนายน 2556 เท่ากับ 105.31)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมิถุนายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.10

2.2 เดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.00

2.3 เทียบเฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.60

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2556 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2556 สูงขึ้น ร้อยละ 0.10 (เดือนมิถุนายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.15) จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.28 ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.21

3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.21 (เดือนมิถุนายน 2556 ลดลงร้อยละ 0.07) จากการลดลงของราคาหมวดผักและผลไม้ และหมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม เป็นสำคัญ โดยหมวดผักและผลไม้ ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.69 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นโดยเฉพาะหมวดผักสด ลดลงร้อยละ 4.30 (มะนาว ผักกาดหอม ผักชี ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักคะน้า พริกสด ดอกกุ้ยฉ่าย หัวผักกาดขาว) และหมวดผลไม้สด ลดลงร้อยละ 0.44 (แก้วมังกร ลำไย ลองกอง ทุเรียน มะพร้าวอ่อน แตงโม องุ่น) สอดคล้องกับหมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 1.72 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมสด ครีมเทียม นมข้นหวาน นมถั่วเหลือง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ หมวดอื่นๆ ที่มีราคาปรับลดลง ได้แก่ หมวดเครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ 0.08 (น้ำตาลทราย น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)) และหมวดอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารบริโภค-ในบ้าน ลดลงร้อยละ0.22 (ปลากระป๋อง อาหารโทรสั่ง (delivery)) ขณะที่สินค้าอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดข้าว สูงขึ้นร้อยละ 0.12 (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น ร้อยละ 0.53 (เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู เนื้อโค หมูหยอง ไก่สด ปลาช่อน ปลาดุก ปลาจะละเม็ด ปลาลัง ปลาทู ปลาสำลี กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่ หอยลาย ปูม้า) และหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.10 (กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำแข็ง น้ำอัดลม โซดา)

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.28 (เดือนมิถุนายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.27) จากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.70 ตามการสูงขึ้นของดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 2.26 (น้ำมันเบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ 91,95, E20 และ E85) จากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกโดยเฉลี่ยภายในประเทศ ตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ายานพาหนะและอุปกรณ์ยานพาหนะ สูงขึ้นร้อยละ 0.01 (รถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์) และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.01 ( ค่าโดยสารรถเมล์เล็ก /รถสองแถว)

นอกจากนี้ สินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.01 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องแต่งกายสตรี ร้อยละ 0.01 (ผ้าตัดกระโปรง ผ้าตัดเสื้อ กางเกงชั้นในสตรี ถุงน่อง) เครื่องแต่งกายเด็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.03 (เสื้อยืดเด็ก ถุงเท้านักเรียน) ผลิตภัณฑ์รองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.05 (รองเท้าผ้าใบบุรุษ รองเท้าแตะฟองน้ำบุรุษ รองเท้าแตะฟองน้ำสตรี รองเท้าแตะฟองน้ำเด็ก) และค่าซ่อมแซมและดูแลรักษารองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.24 (ค่าซ่อมรองเท้าหนังสตรี) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.02 จากการสูงขึ้นของค่าเช่า ที่พักอาศัย ร้อยละ 0.03 (ค่าเช่าบ้าน) ค่าวัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.18 (แผ่นไม้อัด ปูนซิเมนต์ อิฐ) ค่าแรง ร้อยละ 0.10 (ค่าแรงกระเบื้องปูพื้น) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดในบ้าน ร้อยละ 0.08 (กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า หม้อ กระทะ) เครื่องบริภัณฑ์อื่นๆ ร้อยละ 0.02 (ตู้เย็น เตารีด เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น) และหมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.01 (ผลิตภัณฑ์สุรา ผลิตภัณฑ์ไวน์)

ขณะที่หมวดสินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 0.01 ตามการส่งเสริมการจำหน่าย (ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว กระดาษชำระ แปรงสีฟัน ผลิตภัณฑ์และป้องกันบำรุงผิว ใบมีดโกน ลิปสติก)

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.00 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.81 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 1.16 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 6.82 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 4.41 ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.43 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.66 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.84 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.17 สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.60 จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.90 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 1.30 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.76 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้น ร้อยละ 2.04 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.37 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 7.26

5. พิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.60 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.72 และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.94 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.81 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 5.16 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 3.53 ผักและผลไม้ ร้อยละ 10.78 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.54 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.57 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.75 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.83 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.62 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.01 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.63 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.51 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 7.44

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 312 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 138 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2556 เท่ากับ 103.07 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนมิถุนายน 2556 ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

6.2 เดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.85

6.3 เทียบเฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.18

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2556 พบว่า ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม มีบางรายการสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นและลดลง ประกอบด้วย สินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำแข็ง น้ำอัดลม โซดา) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เครื่องแต่งกายสตรี เครื่องแต่งกายเด็ก ผลิตภัณฑ์รองเท้า ค่าซ่อมแซมและดูแลรักษารองเท้า) หมวดเคหสถาน (ค่าเช่าบ้าน แผ่นไม้อัด ปูนซิเมนต์ อิฐ ค่าแรงกระเบื้องปูพื้น กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า หม้อ กระทะ ตู้เย็น เตารีด เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น) และหมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (ผลิตภัณฑ์สุรา และผลิตภัณฑ์ไวน์) ขณะที่สินค้าและบริการที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)) หมวดอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารบริโภค- ในบ้าน (ปลากระป๋อง อาหารโทรสั่ง (delivery)) หมวดค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว กระดาษชำระ แปรงสีฟัน ผลิตภัณฑ์และป้องกันบำรุงผิว ใบมีดโกน ลิปสติก) และหมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (ผลิตภัณฑ์สุรา และผลิตภัณฑ์ไวน์)

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนกรกฎาคม 2556 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ