ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ กันยายน 2556 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2556

ข่าวทั่วไป Wednesday October 2, 2013 14:12 —กรมการค้าภายใน

อัตราเงินเฟ้อของประเทศเดือนกันยายน 2556 ปรับสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย จากราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชะลอตัวในปีนี้

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนกันยายน 2556 เท่ากับ 105.58 เทียบกับเดือน ที่ผ่านมา (สิงหาคม 2556) เปลี่ยนแปลงในอัตราสูงขึ้นร้อยละ 0.16 เทียบกับเดือนกันยายน 2555 สูงขึ้นในอัตราชะลอลง ร้อยละ 1.42 (เดือนสิงหาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 1.59) และเทียบเฉลี่ยเดือนมกราคม - กันยายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.36 สาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาอาหารสดประเภท ข้าว ไข่ไก่ เนื้อสุกร เนื้อโค ปลาและสัตว์น้ำบางชนิด และการปรับขึ้นราคาค่าก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์เบียร์และสุรา ขณะที่ราคาผักและผลไม้สดหลายชนิดมีราคาลดลง เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเป็นฤดูกาลผลิต ส่งผลให้ปริมาณผลผลิต ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเฉลี่ยน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศบางชนิดมีราคาสูงขึ้นเล็กน้อย จึงส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก นอกจากนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการดูแลด้านค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งทำให้ภาวการณ์ใช้จ่ายด้านการบริโภคภาพรวมยังอยู่ใน เกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2556 เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ โดยดัชนีเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 0.16 จากการสูงขึ้นของราคาไข่และผลิตภัณฑ์นม นอกจากนี้ เครื่องประกอบอาหาร เนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง และอาหารสำเร็จรูปมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ราคาผักและผลไม้มีการปรับราคาลดลงตามสภาพอากาศเอื้ออำนวยและเป็นช่วงฤดูกาลผลิต เช่นเดียวกับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มี การปรับราคาลดลงตามการส่งเสริมการจำหน่าย

สำหรับหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.15 จากการสูงขึ้นของราคาค่าก๊าซหุงต้ม และค่ากระแสไฟฟ้าตามการปรับขึ้นของค่า Ft รวมถึงผลิตภัณฑ์เบียร์และสุรามีราคาสูงขึ้นตามการปรับขึ้น อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ นอกจากนี้สินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ประกอบด้วย สิ่งที่เกี่ยวกับ ทำความสะอาด เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ค่าตรวจรักษา ค่ายา และค่าบริการส่วนบุคคล

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2556

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 450 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2556

ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกันยายน 2556 เท่ากับ 105.58 (เดือนสิงหาคม 2556 เท่ากับ 105.41)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2556 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนสิงหาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.16

2.2 เดือนกันยายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.42

2.3 เทียบเฉลี่ย 9 เดือน (มกราคม - กันยายน) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.36

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2556 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 สูงขึ้น ร้อยละ 0.16 (เดือนสิงหาคม 2556 ลดลงร้อยละ 0.01) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.16 และดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.15

3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.16 (เดือนสิงหาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.16) จากการสูงขึ้นของราคาหมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 2.24 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม นมสด นมผง) หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.45 (ขนมหวาน แยมผลไม้ ลูกอม น้ำตาลทรายแดง มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำปลา ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำพริกแกง ซีอิ๊ว) หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.22 (เครื่องในหมู เนื้อโค เครื่องในวัว กระดูกซี่โครงหมู เนื้อสุกร ไส้กรอก ลูกชิ้นหมู/ไก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาจะละเม็ด ปลาทู ปลาโอ กุ้งขาว กุ้งนาง หอยลาย หอยแมลงภู่ ปูม้า ปูทะเล ปลาหางแข็งเค็ม ปลาร้า) หมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (ข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า เต้าหู้ ขนมปังปอนด์ อาหารธัญพืช ขนมอบ) หมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.12 จากการสูงขึ้นของอาหารบริโภค-ในบ้าน ร้อยละ0.11 (ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารว่าง ข้าวแกง/ ข้าวกล่อง) อาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 0.14 (อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง)) ขณะที่หมวดผักและผลไม้ ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.77 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นโดยเฉพาะหมวดผักสด ดัชนีลดลงร้อยละ 2.23 (มะเขือเทศ หัวผักกาดขาว ฟักเขียว ต้นหอม ขึ้นฉ่าย มะเขือ พริกสด มะละกอดิบ ฟักทอง ผักบุ้ง ผักกาดขาว) หมวดผลไม้สด ลดลงร้อยละ 0.41 (ลองกอง มังคุด เงาะ ทุเรียน องุ่น มะพร้าวอ่อน แก้วมังกร แอ๊ปเปิ้ล) และหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.08 (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม โซดา น้ำผลไม้)

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.15 (เดือนสิงหาคม 2556 ลดลงร้อยละ 0.10) จากการสูงขึ้นของหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.17 (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) เนื่องจากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ และมีผลตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2556 เป็นต้นไป หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.40 จากการสูงขึ้นของค่าไฟฟ้า (เป็นการปรับสูงขึ้นตามอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2556 เท่ากับ 54 สตางค์ต่อหน่วย) ไฟฟ้า ประปา เชื้อเพลิง และแสงสว่างเป็นสำคัญ ร้อยละ 1.39 (ก๊าซหุงต้ม กระแสไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟ้า) ค่าเช่าที่พักอาศัย ร้อยละ 0.09 (ค่าเช่าบ้าน) ค่าวัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.07 (ปูนซิเมนต์ กระเบื้องซิเมนต์ใยหินมุงหลังคา สีน้ำพลาสติก แผ่นไม้อัด ) ค่าแรง ร้อยละ 0.90 (ค่าแรงกระเบื้อง ปูพื้น ค่าแรงช่างไฟฟ้า ค่าแรงช่างประปา ค่าแรงช่างทาสี) สิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน ร้อยละ 0.06 (มุ้ง ผ้าปูที่นอน เสื่อ) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.19 (น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น (น้ำยาถูพื้น)) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.08 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้าประเภทเสื้อผ้าบุรุษ ร้อยละ 0.22 (เครื่องแบบข้าราชการชาย เสื้อยืดบุรุษ เสื้อกล้าม กางเกงขายาวบุรุษ) ค่าจ้างตัดเย็บและอุปกรณ์ ร้อยละ 0.06 (ค่าจ้างตัดเสื้อสตรี) และผลิตภัณฑ์รองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.09 (รองเท้าแตะหนังสตรี รองเท้าแตะสตรี) และหมวด การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.05 จากการสูงขึ้นของค่าตรวจรักษาและค่ายา ร้อยละ 0.09 (ยาแก้ไข้หวัด ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดลดไข้ ยาฆ่าเชื้อรา ยาคุมกำเนิด ยาหม่อง ถุงยางอนามัย ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน(คนไข้นอก) ค่าห้องพักคนไข้-โรงพยาบาลเอกชน (คนไข้ใน)) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ร้อยละ 0.05 (สบู่ถูตัว น้ำยาระงับกลิ่นกาย ยาสีฟัน น้ำหอม แป้งผัดหน้า) และค่าบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.33 (ค่าแต่งผมชาย ค่าแต่งผมสตรี ค่ายืดผม)

ขณะที่หมวดสินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง ดัชนีลดลงร้อยละ 0.07 ตามการลดลงของดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 0.22 (น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91,95 และ E20) สาเหตุจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศ และอุปกรณ์ยานพาหนะ ลดลงร้อยละ 0.04 (ยางรถยนต์)

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนกันยายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.42 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.49 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 1.41 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 8.57 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 8.12 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.84 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.29 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น ร้อยละ 1.18 ขณะที่ผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 1.14 สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.85 จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.85 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.74 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.77 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.02 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.43 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.99

5. พิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ย 9 เดือนของปี 2556 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.36 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.46 และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.71 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.94 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 5.88 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 4.24 ผักและผลไม้ ร้อยละ 8.18 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.57 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.30 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.64 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.83 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.24 หมวดการตรวจรักษาและบริการ ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.94 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.48 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.49 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 6.57

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 312 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 138 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2556 เท่ากับ 103.23 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนสิงหาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.09

6.2 เดือนกันยายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.61

6.3 เทียบเฉลี่ย 9 เดือน (มกราคม - กันยายน) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.07

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.09 สินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารบริโภคในบ้าน (ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารว่าง ข้าวแกง/ข้าวกล่อง) และอาหารบริโภค-นอกบ้าน (อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง)) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เครื่องแบบข้าราชการชาย เสื้อยืดบุรุษ เสื้อกล้าม กางเกงขายาวบุรุษ ค่าจ้างตัดเสื้อสตรี รองเท้าแตะหนังสตรี รองเท้าแตะสตรี) หมวดเคหสถาน (ถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ปูนซิเมนต์ กระเบื้องซิเมนต์ใยหินมุงหลังคา สีน้ำพลาสติก แผ่นไม้อัด ค่าแรงกระเบื้องปูพื้น ค่าแรงช่างไฟฟ้า ค่าแรงช่างประปา ค่าแรงช่างทาสี น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ยาแก้ไข้หวัด ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดลดไข้ ยาฆ่าเชื้อรา ยาคุมกำเนิด ยาหม่อง ถุงยางอนามัย ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน(คนไข้นอก) ค่าห้องพักคนไข้-โรงพยาบาลเอกชน (คนไข้ใน) สบู่ถูตัว น้ำยาระงับกลิ่นกาย ยาสีฟัน ใบมีดโกน น้ำหอม แป้งผัดหน้า ค่าแต่งผมชาย ค่าแต่งผมสตรี ค่ายืดผม) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) สำหรับสินค้าและบริการที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.08 (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม โซดา น้ำผลไม้) และเมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่ง ประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนกันยายน 2556 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ