ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2016 14:46 —กรมการค้าภายใน

อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 0 อย่างต่อเนื่องโดยได้รับอิทธิพลหลักมาจากสินค้า 3 หมวดคือ 1) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 2) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 3) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ ผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าพลังงานประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง ขายปลีกในประเทศ ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 ลดลงตามราคาตลาดโลก รวมไปถึงค่ากระแสไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้มที่ใช้ในบ้าน ค่าโดยสารรถบขส. - รถร่วมเอกชน (ระหว่างจังหวัด) ชดเชยแรงกดดันเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดในช่วงเทศกาลตรุษจีนและการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าจากร้อยละ 87 เป็นร้อยละ 90 ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 59

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 (ดัชนีปี 2554 เท่ากับ100) เท่ากับ 105.62 อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 0.50 (YoY) จากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารและส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ -1.12 โดยมีปัจจัยหลัก 1) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 2) ค่าโดยสารนอกท้องถิ่น ตามมติกรรมการขนส่งทางบกกลางให้ปรับลดค่าตั๋วโดยสาร รถ บขส.-รถร่วมเอกชน ลง 1 สต./กม. ตั้งแต่ 15 ก.พ. ตามต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง (ค่าโดยสารรถประจำทางไม่ปรับอากาศวิ่งระหว่างจังหวัด ค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศชั้น 1 และชั้น2) และส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ -1.14 และ ร้อยละ -0.01 ตามลำดับ อีกทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มในหมวดเคหสถานที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ -0.17 และ -0.04 (ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อข้างต้นถูกชดเชยด้วยความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเพื่อการบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.44 โดยเฉพาะอาหารสด อาทิ ผักและผลไม้ ปลาและสัตว์น้ำ และ ไข่ไก่ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน (ร้อยละ 0.24, 0.10 และ 0.01 ตามลำดับ) อีกทั้งการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าส่งผลให้บุหรี่ภายในประเทศในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้น 5 -10 บาทต่อซอง และกระทบอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.13 ทั้งนี้ สินค้าและบริการอื่นๆในหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (อาทิ ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน ค่าของใช้ส่วนบุคคล และค่าบริการส่วนบุคคลเพื่อความสวยงาม) และ หมวดการบันเทิง การศึกษาและการศาสนา (ค่าเล่าเรียนและธรรมเนียมการศึกษา) ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยและส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยร้อยละ 0.06 และ 0.07 ตามลำดับ

เมื่อเทียบเดือนมกราคม 2559 อัตราเงินเฟ้อมีค่าเท่ากับ 0.15 (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจาก 1) การปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบ (ร้อยละ 0.14) 2) ผักและผลไม้ (ร้อยละ 0.12)

กระทรวงพาณิชย์ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 อยู่ระหว่าง 0.0 - 1.0 (จากเดิม ร้อยละ 1.0 - 2.0) โดยประเมินจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) และราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 - 3.8 และ 30 – 40 (เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล) ตามลำดับ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 0 สะท้อนว่าว่าผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าบริการจำนวนเท่าเดิมได้ในราคาที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแก่แต่ละครัวเรือนนั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมและประเภทของสินค้าและบริการที่แต่ละครัวเรือนใช้สอย ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 105.62 (เดือนมกราคม 2559 เท่ากับ 105.46)

2.การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมกราคม 2559 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.15 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1

อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สูงขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 (MoM) ร้อยละ 0.15 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 59 ส่งผลให้บุหรี่ภายในประเทศราคาสูงขึ้น 5 -10 บาทต่อซอง และส่งผลให้ดัชนีหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 8.79 (บุหรี่ ราคาสูงขึ้นร้อยละ 18.94) นอกจากนี้ สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์บางรายการปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน อาทิ ผักสด ร้อยละ 6.75 (ผักบุ้ง แตงกวา ถั่วฝักยาว) ปลาน้ำทะเลสด ร้อยละ 1.61 (ปลาทู ปลาแดง) และไข่ไก่ ร้อยละ 1.38 ทั้งนี้ ดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ -0.39 อันมีสาเหตุมาจากการปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและ การปรับลดค่าตั๋วโดยสารรถ บขส.-รถร่วมเอกชนของกรรมการขนส่งทางบกกลางส่งผลให้ดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าโดยสารนอกท้องถิ่นลดลง ร้อยละ -1.81และ -0.92 ตามลำดับ

2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2558 (YoY) ลดลง ร้อยละ 0.50 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2

อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 (YoY) ร้อยละ 0.50 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของหมวดพลังงานตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (ร้อยละ -18.35) ได้แก่ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ E85 E20 แก๊สโซฮอล์ 91 95 และน้ำมันเบนซิน 95 รวมไปถึงพลังงานที่ใช้ในบ้าน อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า (ร้อยละ -4.11) และก๊าซหุงต้ม (ร้อยละ -9.03) นอกจากนี้ยังมีการปรับลดลงของค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศชั้น 2 (ร้อยละ -10.87) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะบุหรี่ ราคาสูงขึ้น ร้อยละ 21.94 รวมไปถึงหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ ผักและผลไม้สด ปลาและสัตว์น้ำ อาหารสำเร็จรูป มีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ สินค้าและบริการในหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา (ค่าธรรมเนียมการศึกษา) หมวดการตรวจค่าตรวจรักษาและค่ายา (ค่ายาและเวชภัณฑ์) และหมวดเคหสถาน ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก

2.3 เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2559 (AoA) เทียบกับเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2559 ลดลง ร้อยละ 0.52 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3

อัตราเงินเฟ้อในระยะ 2 เดือน (เดือนม.ค.-ก.พ. 59/เดือนม.ค.-ก.พ.58) ลดลงร้อยละ 0.52 (AoA) จะเห็นได้ว่าสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารราคาลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับหมวดอื่นๆ (น้ำมันเชื้อเพลิง เบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 E20 E85) ร้อยละ -4.35 หมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และสิ่งของสำหรับใช้ในบ้าน) ลดลงร้อยละ -0.35 ทั้งนี้ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 6.26 ในขณะที่หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.16, 1.04, 0.95, 0.49 ตามลำดับ

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 กระทรวงพาณิชย์ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 (จากประมาณการเดิมเมื่อเดือนธันวาคมที่ร้อยละ 1.0 – 2.0) โดยมีสมมติฐานหลักคือ มี.ค.-59 ธ.ค.-58

1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 2.8-3.8 3.0-4.0

2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ 30-40 48-54 (เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล)

3.อัตราแลกเปลี่ยน 36-38 36-38 (บาท/เหรียญสหรัฐฯ)

ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลล่าร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 35.60 บาทต่อดอลล่าร์ (ข้อมูลล่าสุด วันที่ 29 กุมภาพันธ์) และ 29.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

4.1 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากปัญหาอุปทานส่วนเกิน

4.2 มติกรรมการขนส่งทางบกกลางให้ปรับลดค่าตั๋วโดยสาร รถ บขส.-รถร่วมเอกชน ลง 1 สต./กม. ตั้งแต่ 15 ก.พ. ตามต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง

4.3 การปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าจากร้อยละ 87 เป็นร้อยละ 90

---สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5850 โทรสาร. 0 2507 5825---


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ