ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 3, 2016 15:41 —กรมการค้าภายใน

อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2559 ขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรก ในรอบ 15 เดือน มีค่าเท่ากับร้อยละ 0.07 (YoY) โดยได้รับปัจจัยจาก 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากจากการปรับขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ และผักสดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง พืชและสัตว์เติบโตได้ช้าส่งผลให้อุปทานในตลาดลดลง 2) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล มีการปรับขึ้นเล็กน้อยในส่วนของค่าตรวจรักษาและค่ายา อย่างไรก็ตาม หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ยังคงส่งกระทบในทางลบต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีแนวโน้มที่ลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนเมษายน 2559 (ดัชนีปี 2554 เท่ากับ100) เท่ากับ 106.42 อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 สูงขึ้น ร้อยละ 0.07 (YoY) จากของ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ร้อยละ 1.57 ปัจจัยสำคัญมาจาก 1) เนื้อสุกร 2) ปลาและสัตว์น้ำ 3) ไข่ไก่ 4) ผักและผลไม้สด (ผลกระทบร้อยละ 0.02, 0.10, 0.05, และ 0.19 ตามลำดับ) และ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล จาก 1) ค่าคนไข้ใน 2) ค่าบริการส่วนบุคคล อาทิ ค่าตัดผมชาย ค่าแต่งผมสตรี ( ผลกระทบ ร้อยละ 0.02) อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับผลกระทบทางลบจากหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร จากน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ร้อยละ -11.20 โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 และน้ำมันดีเซล ทั้งนี้ สังเกตได้ว่าผลกระทบดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา

เมื่อเทียบเดือนมีนาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อมีค่าเท่ากับ 0.55 (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจาก 1) ผักสด (ร้อยละ 14.44) อาทิ มะนาว ถั่วฝักยาว ผักชี และพริกสด 2) เนื้อสุกร (ร้อยละ 1.48) สาเหตุมาจากผู้ส่งสินค้าหยุดทำการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้สินค้าไม่เพียงพอจำหน่าย 3) อาหารโทรสั่ง (ร้อยละ 25.13) อาทิ พิซซ่า 4) น้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 1.79

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2559

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 106.42 (เดือนมีนาคม 2559 เท่ากับ 105.84 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2559 เมื่อเทียบกับระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ

2.1 เดือนมีนาคม 2559 (MoM) สูงขึ้น 0.55

2.2 เดือนเมษายน 2558 (YoY) สูงขึ้น 0.07

2.3 เฉลี่ย 4 เดือน (มกราคม - เมษายน 2558) ลดลง -0.35

โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 เทียบเดือนมีนาคม 2559 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.55 มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1

อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2559 สูงขึ้นจากเดือนมีนาคม 2559 (MoM) ร้อยละ 0.55 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 1.23 ตามการสูงขึ้นของผักและผลไม้ (มะนาว ร้อยละ 35.26 ถั่วฝักยาวร้อยละ 37.15 ผักชี ร้อยละ 71.10 พริกสด ร้อยละ 18.43 ส้มเขียวหวาน ร้อยละ 10.72 เงาะ ร้อยละ 11.87 อาหารโทรสั่ง ร้อยละ 25.13) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.43 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ สูงขึ้นร้อยละ 1.79 รถยนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.02) หมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.36 (บุหรี่ สูงขึ้นร้อยละ 0.82) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.03 (ค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.05 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.01 อาทิ น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ) อย่างไรก็ตาม ดัชนีหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.03 (ค่าอุปกรณ์การบันเทิง ร้อยละ 0.01)

2.2 เดือนเมษายน 2558 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 0.07 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2

อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2559 สูงขึ้นจากเดือนเมษายน 2558 (YoY) ร้อยละ 0.07 ขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 13.13 โดยเฉพาะบุหรี่ร้อยละ 28.15 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.57 ตามการสูงขึ้นของผักและผลไม้และอาหารโทรสั่ง ร้อยละ 5.29 และ10.15 หมวดการบันเทิง การอ่านและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 1.10 (การบันเทิงและการอ่าน ร้อยละ 0.05) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.81 (ค่าตรวจรักษาและค่ายา ร้อยละ 1.31) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (ผ้าและเสื้อผ้า ร้อยละ 0.54) อย่างไรก็ตามหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 2.85 (น้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ร้อยละ 11.20) และหมวดเคหะสถานลดลงร้อยละ 0.54 (ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 4.11)

2.3 เดือนมกราคม - เมษายน 2559 เทียบกับ เดือนมกราคม - เมษายน 2558(AoA) ลดลง ร้อยละ 0.35 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3

อัตราเงินเฟ้อในระยะ 4 เดือน (เดือนม.ค.-เม.ย. 59/เดือนม.ค.-เม.ย.58) ลดลงร้อยละ 0.35 (AoA) ยังคงได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารเป็นลำดับแรกเมื่อเทียบกับหมวด -3.97 (น้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -15.24 อาทิ เบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 E85) หมวดเคหสถาน ร้อยละ -0.43 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ทั้งนี้ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 10.03 ในขณะที่ หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยที่ ร้อยละ 1.14, 1.15, 0.88, 0.48 ตามลำดับ

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ

มีนาคม 2559 ธันวาคม 2558

1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 2.8-3.8 3.0-4.0

2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ (เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล) 30-40 48-54

3.อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/เหรียญสหรัฐฯ) 36-38 36-38

ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลล่าร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนเมษายน 2559 เท่ากับ 35.10 บาทต่อดอลล่าร์ (ข้อมูลล่าสุด วันที่ 26 เมษายน 59) และ 38.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด วันที่ 26 เมษายน 59) ตามลำดับ

4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

4.1 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากปัญหาอุปทานส่วนเกิน

4.2 ผลกระทบสะสมการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าจากร้อยละ 87 เป็นร้อยละ 90 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559

4.3 สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้สินค้าพืชผักสดและผลไม้สดหลายชนิดมีราคาสูงขึ้น

---สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5850 โทรสาร. 0 2507 5825---


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ