อัตราเงินเฟ้อประเทศไทยเดือนกันยายน 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.38 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ดีสอดคล้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลมาจากราคาสินค้าอาหารสดเป็นสำคัญ อาทิ ผักและผลไม้สด ไข่ไก่ ปลาและสัตว์น้ำ และเนื้อสัตว์ รวมถึงบุหรี่จากการปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.04 (MoM) โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป
ในภาพรวม ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ อาทิ ไข่ไก่ น้ำตาลทราย น้ำมันพืช อาหารสำเร็จรูป ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยสอดคล้องกับภาวะตลาด
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนกันยายน 2559 (ดัชนีปี 2554 เท่ากับ 100) เท่ากับ 106.68 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.38 (YoY) ผลจาก 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นสำคัญและส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 0.53 ปัจจัยสำคัญมาจาก 1) ผักและผลไม้สด (ผักคะน้า ผักชี กล้วยน้ำว้า มะม่วง ทุเรียน) 2) ปลาและสัตว์น้ำ (กุ้งขาว ปลาหมึกกล้วย หอยแครง) 3) ไข่ไก่ 4) เนื้อสัตว์สด (เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู) (ผลกระทบร้อยละ 0.23, 0.06, 0.04 และ 0.02 ตามลำดับ) 2) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ จากผลสะสมของปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าเมื่อเดือนก.พ.59 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.17 ในขณะที่ หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ยังคงฉุดรั้งอัตราเงินเฟ้อ (ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ -0.13) เนื่องจากฐานราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศยังคงต่ำกว่าปีก่อน เช่นเดียวกันกับหมวดเคหสถาน ที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ -0.29 ผลจากการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมเท่ากับ -33.29 สตางค์ต่อหน่วย
เมื่อเทียบเดือนสิงหาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 0.04 (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (น้ำมันเบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ 91 95) ที่ปรับสูงขึ้นร้อยละ 2.37 ใน หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ร้อยละ 0.13 อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าใน หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผักและผลไม้สด (ต้นหอม แตงกวา ผักชี ทุเรียน เงาะ ส้มเขียวหวาน องุ่น) ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ -0.10
ความเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกันยายนสอดคล้องกับการประเมินของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อประเทศไทยจะเริ่มขยายตัวในไตรมาส 4/2559 และยังอยู่ในกรอบประมาณอัตราเงินเฟ้อ ที่ร้อยละ 0.0 - 1.0 (YoY) โดยมีสมมติฐานคือ 1) GDP ขยายตัวร้อยละ 2.8 - 3.8 2)ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 35 - 45 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล 3) อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 35 - 37 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามลำดับ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 106.68 (เดือนสิงหาคม 2559 เท่ากับ 106.64)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2559 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ
2.1 เดือนสิงหาคม 2559 (MoM) สูงขึ้น 0.04
2.2 เดือนกันยายน 2558 (YoY) สูงขึ้น 0.38
2.3 เฉลี่ย 9 เดือน (AoA) (มกราคม - กันยายน 2558) สูงขึ้น 0.02
โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 เทียบเดือนสิงหาคม 2559 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.04 มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1
อัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายน 2559 สูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2559 (MoM) ร้อยละ 0.04 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.57 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศสูงขึ้นร้อยละ 2.37) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.08 (ค่าลงทะเบียน- ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาภาคเอกชน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.08 (ค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ สบู่ถูตัว แป้งทาผิวกาย) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.01 (ค่าเช่าบ้าน) ในขณะที่ ราคาสินค้าและบริการในหมวดหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และหมวดเครื่องเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ปรับลดลงร้อยละ -0.28 และ -0.20 ตามลำดับ และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
2.2 เทียบเดือนกันยายน 2558 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 0.38 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2
อัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายน 2559 สูงขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 (YoY) ร้อยละ 0.38 ได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น ร้อยละ 13.00 อาทิ บุหรี่ (สูงขึ้นร้อยละ 28.16)หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.47 หมวดการตรวจรักษาและค่าบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.71 (ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และค่ายา) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.20 ในขณะที่ ราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.57 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน95 แก๊สโซฮอล์ 91 95 และก๊าชยานพาหนะ (LPG)) และหมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -1.16 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และอุปกรณ์ซ่อมแซมในบ้าน)
2.3 เทียบเดือนมกราคม - กันยายน 2559 กับ เดือนมกราคม - กันยายน 2558 (AoA) สูงขึ้น ร้อยละ 0.02 นับเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 21 เดือน โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3
อัตราเงินเฟ้อในระยะ 9 เดือน (เดือนม.ค.-ก.ย.59/เดือนม.ค.-ก.ย.58) สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 11.73 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.73 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.89 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.86 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.45 ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 E20 E85) และหมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ราคาปรับลดลงเล็กน้อย ร้อยละ -2.75 และ ร้อยละ -0.94 ตามลำดับ
3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ
ประมาณการ
มีนาคม และ มิถุนายน 59 กันยายน 59
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.3 (2.8 - 3.8) 3.3 (2.8 - 3.8)
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 35.0 (30.0 - 40.0) 40.0 (35.0 - 45.0)
3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 37 (36.0 - 38.0) 36 (35.0 - 37.0)
ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 34.74 บาทต่อดอลลาร์ และ 43.25 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 กันยายน 2559)
4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพ และอุปสงค์เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด
มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาคการส่งออก และรายได้ภาคครัวเรือน
---สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5850 โทรสาร. 0 2507 5825---