ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 1, 2016 16:11 —กรมการค้าภายใน

ระดับราคาสินค้าเดือนตุลาคม 2559 อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพจากการดำเนินนโยบายประชารัฐของรัฐบาลในการสนับสนุนกำลังซื้อฐานรากทำให้ครัวเรือนมีรายได้และกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงการกำกับดูแลค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม 2559 สูงขึ้นร้อยละ 0.16 (MoM) และ 0.34 (YoY) จัดว่าเป็นการขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างอ่อน และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม

ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.16 (MoM) จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และผักสดเป็นสำคัญ ในขณะที่ราคาอาหารสดประเภทอื่นๆ เช่น เนื้อสุกร ไข่ไก่ และผลไม้สด ปรับลดลง

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ทุกประเภทสูงขึ้นตามกลไกตลาดและแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทยอยปรับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น ร้อยละ 3.30 (MoM)

ราคาผักสด บางประเภทปรับสูงขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากเทศกาลกินเจในช่วงต้นเดือน

ราคาเนื้อสุกร ไข่ไก่ ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีผลผลิตมากขึ้นหลังภาวะภัยแล้งคลี่คลาย และความต้องการที่ลดลงในช่วงปิดเทอม สอดคล้องกับการลดลงดัชนีราคาผู้ผลิตในหมวดสินค้าเกษตรกรรม

ผลไม้สด อาทิ กล้วยน้ำว้า ทุเรียน ส้มเขียวหวาน ลองกอง ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตล้นตลาดในช่วงฤดูกาล

การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อในรอบปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.34 (YoY) เป็นผลมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 ทำให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยสูงกว่าฐานในปี 2558 รวมถึงราคาอาหารสดปรุงที่บ้าน อาทิ ผลไม้สด ไข่ไก่และเนื้อสุกรที่ระดับราคาสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้งตั้งแต่ปลายปี 2558 แม้ว่าราคามีแนวโน้มลดลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในเดือนพค.-สค.59 ยังคงเป็นปัจจัยกดดันอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาค่ากระแสไฟฟ้ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน รวมไปถึงราคาผักสดที่ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.59/มค.-ต.ค.58) ขยายตัวร้อยละ 0.06 และยังคงอยู่ในกรอบการประเมินของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 - 1.0 (YoY) โดยมีสมมติฐานหลักคือ

1) GDP ขยายตัวร้อยละ 2.8 - 3.8

2) ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 35 - 45 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

3) อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 35-37 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

ในการนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงดำเนินกิจกรรมเพื่อเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าราคาประหยัดให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องอาทิ ร้านอาหารหนูณิชย์พาชิม ธงฟ้าราคาประหยัด กิจกรรมจำหน่ายเสื้อผ้าชุดดำราคาประหยัด พร้อมทั้งโครงการตลาดต้องชมที่สนับสนุนการใช้จ่ายสินค้าในระดับชุมชน อันเป็นภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจภายในประเทศ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2559

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 106.85 (เดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 106.68)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2559 เมื่อเทียบกับระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ

2.1 เดือนกันยายน 2559 (MoM) สูงขึ้น 0.16

2.2 เดือนตุลาคม 2558 (YoY) สูงขึ้น 0.34

2.3 เฉลี่ย 10 เดือน (AoA) (มกราคม - ตุลาคม 2558) สูงขึ้น 0.06

โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 เทียบเดือนกันยายน 2559 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.16 มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1

อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2559 สูงขึ้นจากเดือนกันยายน 2559 (MoM) ร้อยละ 0.16 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.81 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 เบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ E20 สูงขึ้นร้อยละ 3.30 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.17 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้น ร้อยละ 0.10 (สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.04 (ค่าเช่าบ้าน) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ และหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนาราคาไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับลดลงเล็กน้อยร้อยละ -0.12

2.2 เทียบเดือนตุลาคม 2558 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 0.34 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2

อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2559 สูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2558 (YoY) ร้อยละ 0.34 ได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 12.98 อาทิ บุหรี่ (สูงขึ้นร้อยละ 28.16) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.89 หมวดการตรวจรักษาและบริหารส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.64 (ค่าบริการส่วนบุคคล) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.50 (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.34 ในขณะที่ ราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.18 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน95 แก๊สโซฮอล์ 91 95 และก๊าชยานพาหนะ (LPG)) และหมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -1.15 (ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม)

2.3 เทียบเดือนมกราคม - ตุลาคม 2559 กับ เดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 (AoA) สูงขึ้น ร้อยละ 0.06 นับเป็นการขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดง ได้ดังภาพที่ 3

อัตราเงินเฟ้อในระยะ 10 เดือน (เดือนม.ค.-ต.ค.59/เดือนม.ค.-ต.ค.58) สูงขึ้นร้อยละ 0.06 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 11.85 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.64 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.85 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.84 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 0.44 ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) และหมวดพาหนะการขนส่งและ การสื่อสาร (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน95 แก๊สโซฮอล์ 91 95 และก๊าชยานพาหนะ (LPG) ราคาปรับลดลงเล็กน้อย ร้อยละ -0.96 และร้อยละ -2.46 ตามลำดับ

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ

ประมาณการ

มีนาคม และ มิถุนายน 59 กันยายน 59

1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.3 (2.8 - 3.8) 3.3 (2.8 - 3.8)

2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 35.0 (30.0 - 40.0) 40.0 (35.0 - 45.0)

3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 37 (36.0 - 38.0) 36 (35.0 - 37.0)

ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ 49.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2559) ตามลำดับ

4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพ และอุปสงค์เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด

มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาคการส่งออก และรายได้ภาคครัวเรือน

รายได้สินค้าเกษตรตกต่ำกระทบรายได้ และกำลังซื้อครัวเรือนเกษตรกร

---สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5850 โทรสาร. 0 2507 5825---


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ