ระดับราคาสินค้าและบริการโดยรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้าโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ -0.06 (MoM) อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในรอบ 12 เดือนยังมีแนวโน้มขยายตัวเท่ากับร้อยละ 0.60 (YoY) สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีการติดตามความเคลื่อนไหวราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมสอดคล้องกับต้นทุน พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกช่องทางการบริโภคแก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ
ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงร้อยละ 0.06 (MoM) อิทธิพลจากอาหารสดและพลังงานราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าดังนี้
ผลไม้สด ราคาปรับลดลงเนื่องจากผลผลิตมากในช่วงฤดูกาลต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะส้มเขียวหวาน มะละกอสุก และกล้วยน้ำหว้า
น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาลดลงเนื่องจากผู้ให้บริการน้ำมันรายใหญ่ประกาศลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนพฤศจิกายน ลดลงร้อยละ -0.92 (MoM)
เนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ ความต้องการบริโภคลดลง ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ผักสด ประเภทผักใบ (ต้นหอม ผักชี) ราคาสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายเนื่องจากผลผลิตน้อยลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเข้าสู่ฤดูหนาว
การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อในรอบปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.60 (YoY) จากราคา
1) อาหารสดปรุงที่บ้าน อาทิ ผักสด ไข่ไก่ และเนื้อสุกร ที่ระดับราคายังคงสูงกว่าปีก่อนหน้าเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง
2) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ
3) ค่าที่พักอาศัย อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับแรงฉุดจากค่ากระแสไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.59/มค.-พ.ย.58) ขยายตัวร้อยละ 0.10 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 0.0 - 1.0) โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2559 อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวเล็กน้อยจากการใช้จ่ายของครัวเรือนตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสิ้นปี
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ
1) GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 - 3.5 โดยตัวชี้วัดการใช้จ่ายครัวเรือน การผลิต รายได้เกษตรกรการส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้นที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มีทิศทางเป็นบวกสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 45 - 55 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ความต้องการใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2560 ขณะที่อุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค
3) อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงเล็กน้อย
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 106.79 (เดือนตุลาคม 2559 เท่ากับ 106.85)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 เมื่อเทียบกับ
โดยมีรายละเอียดดังนี้
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ
2.1 เดือนตุลาคม 2559 (MoM) ลดลง -0.06
2.2 เดือนพฤศจิกายน 2558 (YoY) สูงขึ้น 0.60
2.3 เฉลี่ย 11 เดือน (AoA) (มกราคม - พฤศจิกายน 2558) สูงขึ้น 0.10
2.1 เทียบเดือนตุลาคม 2559 (MoM) ลดลง ร้อยละ -0.06 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1
อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2559 ลดลงจากเดือนตุลาคม 2559 (MoM) ร้อยละ -0.06 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.23 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ -0.92 เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.73) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาลดลงร้อยละ -0.04 (ข้าว เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลลดลง ร้อยละ -0.02 (ค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ สบู่ ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว) ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 0.01 (เสื้อผ้าเด็กและบุรุษ) และหมวดเคหสถานราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.04 (ค่าเช่าบ้าน สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด) ทั้งนี้ ราคาสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ และหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนาราคาไม่เปลี่ยนแปลง
2.2 เทียบเดือนพฤศจิกายน2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.60 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2
อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2559 สูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2558 (YoY) ร้อยละ 0.60 ได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 12.94 อาทิ บุหรี่ (สูงขึ้นร้อยละ 28.01)หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.49 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.58 (ค่าบริการส่วนบุคคลเพื่อความสวยงาม ค่าเบี้ยประกันชีวิต และค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ ยาสีฟัน แชมพู) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา
สูงขึ้นร้อยละ 0.49 (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.46 (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการบำรุงรักษายานยนต์) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.19 (ค่าจ้างซักรีด) ในขณะที่ ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -1.16 (ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม)
2.3 เทียบเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2559 กับ เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2558 (AoA) สูงขึ้น ร้อยละ 0.10 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3
อัตราเงินเฟ้อในระยะ 11 เดือน (เดือนม.ค.-พ.ย.59/เดือนม.ค.-พ.ย.58) สูงขึ้นร้อยละ 0.10 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 11.96 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.63 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.82 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.82 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 0.42 ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) และหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารประจำทาง) ราคาปรับลดลงเล็กน้อย ร้อยละ -0.97 และร้อยละ -2.20 ตามลำดับ
3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 และปี 2560 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2559 อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวเล็กน้อยจากการใช้จ่ายของครัวเรือน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงเทศกาลสิ้นปี แต่ยังคงอยู่ในช่วงประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 ร้อยละ 0.0 - 1.0 ต่อปี สำหรับปี 2560 สนค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.0 ต่อปี โดยมีสมมติฐานหลักคือ
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.25 (3.0 - 3.5) เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 การขยายตัวเศรษฐกิจมี ปัจจัยสนับสนุน อาทิ การใช้จ่ายครัวเรือน การผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนโครงการภาครัฐ การส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้นและมีทิศทางเป็นบวกสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 50.0 (45.0 - 55.0) ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2559 โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะสูงขึ้นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ อุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีความสมดุลมากขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค ทำให้ความผันผวนของราคาลดลง
3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 36.5 (35.5 - 37.5) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ
ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 35.31 บาทต่อดอลลาร์ 43.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559) ตามลำดับ
4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง
อุปสงค์ภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตและ
รายได้เกษตรกร ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ
มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในช่วงเทศกาล ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาคการส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าบางประเภท
---สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5850 โทรสาร. 0 2507 5825---