ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 7, 2017 16:57 —กรมการค้าภายใน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 เท่ากับร้อยละ 1.44 (YoY) สูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการปรับขึ้นของ ก๊าซหุงต้ม รวมทั้งราคาอาหารสด เช่น ไก่สดและผลไม้ ผลจากการส่งออกของไทยในกลุ่มอาหารดังกล่าวมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีเสถียรภาพ

ระดับราคาสินค้าและบริการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่อัตราร้อยละ 0.04 (MoM) ผลจากน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม อาหารสำเร็จรูป ปลาและสัตว์น้ำ โดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าดังนี้

น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.11 (MoM) โดยเป็นการสูงขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทุกประเภท

ก๊าซหุงต้ม ราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.24 จากมติปรับขึ้นของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) 67 สตางค์ต่อกิโลกรัม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

อาหารสำเร็จรูป ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.11 (MoM) อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ปลาและสัตว์น้ำ ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.43 (MoM) สัตว์น้ำทะเลสูงขึ้นที่มีผลจากมรสุม เช่น ปลาลัง กุ้งขาว หอยลาย หอยแมลงภู่ รวมทั้งปลาน้ำจืดบางชนิด ปลาดุก และปลานิล

ผักและผลไม้ ราคาลดลงร้อยละ -1.66 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อผลผลิต เช่น ผักชี มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว พริกสด รวมทั้ง ส้มเขียวหวานและมะม่วง

ไข่ไก่และเนื้อสุกร ราคาลดลงร้อยละ -0.99 และ -0.29 ตามลำดับ ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากอุปทานส่วนเกินที่ยังคงมีอยู่มาก

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ. 2560) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอ ร้อยละ 1.49 (AoA) จากราคาที่ปรับสูงขึ้น 1) กลุ่มอาหารสด ที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ไก่สด ไข่ไก่ ปลาและสัตว์น้ำ ผลไม้สด 2) เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป 3) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ 4) สินค้ามีราคาลดลง ได้แก่ หมวดเคหสถาน จากค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งการลดลงของข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร และผักสด

กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ

1) GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 - 3.5 โดยจากการผลิต รายได้เกษตรกรให้ส่งผลการส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นบวกต่อเนื่องจากปีก่อน

2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ในช่วง 45 - 55 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค

3) อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเล็กน้อย

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2560

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าปีฐาน 2558 ทั้งหมด 422 รายการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สรุปได้ดังนี้ คือ

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 100.79 (เดือนมกราคม 2560 เท่ากับ 100.75)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เมื่อเทียบกับ

ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ

2.1 เดือนมกราคม 2560(MoM) สูงขึ้น +0.04

2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2559 (YoY) สูงขึ้น +1.44

2.3 เฉลี่ย 2 เดือน 2560 (AoA) (มกราคม - กุมภาพันธ์ 2559) สูงขึ้น +1.49

โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 เทียบเดือนมกราคม 2560 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.04 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1

อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สูงขึ้นจากเดือนมกราคม 2560 (MoM) ร้อยละ +0.04 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.39 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท สูงขึ้นร้อยละ1.11) หมวดเคหสถานราคาสูงขึ้น ร้อยละ 0.04 จากการปรับขึ้นของก๊าซหุงต้ม 67 สตางค์ต่อกิโลกรัมของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน รวมทั้งค่าเช่าบ้าน อิฐ ค่าบริการล้างแอร์ ขณะที่สินค้าบางหมวดปรับลดลง หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ - 0.24 (เสื้อบุรุษ เสื้อสตรี เสื้อยืดเด็ก) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ -0.09 (สบู่ถูตัว ลิปสติก ผ้าอนามัย) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ - 0.02 จากการลดลงเบียร์เนื่องจากการแข่งขัน รวมทั้งการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ -0.15 ได้แก่ ผักและผลไม้สด และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

2.2 เทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2559(YoY)สูงขึ้น ร้อยละ 1.44 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2

อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สูงขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (YoY) ร้อยละ 1.44 ได้รับผลกระทบจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 5.58 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 แก๊สโซฮอล์E20 และน้ำมันเบนซิน 95)หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 3.82 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.00 (ไก่สด ผลไม้สด กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.49 (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.30 (ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล แชมพูสระผมน้ำหอม ใบมีดโกน) ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.02 หมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -1.17 (ค่ากระแสไฟฟ้า)

2.3 เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2560 (AoA) เทียบกับเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2559 สูงขึ้น ร้อยละ 1.49 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3

อัตราเงินเฟ้อในระยะ 2 เดือน (เดือนม.ค.-ก.พ.60/เดือนม.ค.-ก.พ.59) สูงขึ้นร้อยละ 1.49 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 8.21 หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน95 แก๊สโซฮอล์ 91 95 และก๊าชยานพาหนะ (LPG) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.27 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.49 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.31 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 0.10 ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ -1.22 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม)

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว ร้อยละ 1.5 - 2.0 ต่อปี ในปี 2560 โดยมีสมมติฐานหลักคือ

ช่วงประมาณการ

1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.25 (3.0 - 3.5) เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 การขยายตัวเศรษฐกิจมี ปัจจัยสนับสนุน อาทิ การใช้จ่ายครัวเรือน การผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนโครงการภาครัฐ การส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้นและมีทิศทางเป็นบวกสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม

2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 50.0 (45.0 - 55.0) ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2559 โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะสูงขึ้นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ อุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีความสมดุลมากขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค ทำให้ความผันผวนของราคาลดลง

3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 36.5 (35.5 - 37.5) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ 54.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 27 มกราคม 2560)

4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง

อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการการผลิตและรายได้เกษตรกร เศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก

รายได้จากการส่งออกมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น และมีโอกานกลับมาขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากปีก่อน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ

มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อสำหรับครัวเรือนรายได้น้อยและการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2017 เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ

---สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5850 โทรสาร. 0 2507 5825---


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ