ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน มีนาคม 2553 และไตรมาสแรกของปี 2553

ข่าวทั่วไป Friday April 2, 2010 14:46 —กรมการค้าภายใน

เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ

กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2553 เท่ากับ 107.13 เป็นการรายงานโดยใช้ตัวเลขหลังจุดทศนิยม 2 ตำแหน่งเป็นเดือนที่ 3 ตั้งแต่จัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคมานานกว่า 60 ปี โดยยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.4 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากต้นปี คือ ในเดือนม.ค. และเดือนก.พ.2553 มีการขยายตัวร้อยละ 4.1 และ 3.7 ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นในลักษณะนี้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีเสถียรภาพ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 3.8

การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 1 นี้มีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารสดสูงขึ้นร้อยละ 8.2 เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ขณะที่น้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 41.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลได้มีการขยายไปบางส่วน ถึงเดือนมิถุนายน 2553 และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด มีส่วนช่วยค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2553 โดยสรุปเป็นดังนี้

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2553

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2553 เท่ากับ 107.13 ( เดือน กุมภาพันธ์ 2553 คือ 106.88 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2553 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.23

2.2 เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.4

2.3 เฉลี่ยช่วงไตรมาสแรก ( มกราคม - มีนาคม ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.8

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2553 เทียบกับ เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.23 (เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.56) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยมีผลกระทบมาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ารวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและสินค้าอุปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร ผลไม้สด ข้าว ไข่ ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร ยานพาหนะและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ในขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผักสด ไก่สด นมและผลิตภัณฑ์นม วัสดุก่อสร้าง และสุรา

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.07 (เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.39 ) สาเหตุสำคัญเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาอาหารสดประเภท ผลไม้สด ร้อยละ 1.40 ได้แก่ ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า ทุเรียน แตงโม ชมพู่และแอ๊ปเปิ้ล เป็นช่วงนอกฤดูกาลของผลไม้บางชนิดประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลเช็งเม้งของคนจีน ทำให้ความต้องการบริโภคมีมาก เนื้อสุกร ร้อยละ 0.66 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้สุกรมีชีวิตเติบโตช้าแม้ว่าความต้องการบริโภคจะลดลงในช่วงปิดภาคการศึกษา ข้าว ร้อยละ 1.08 ( ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) ไข่ ร้อยละ 0.56 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ) ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.80 และเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 1.02 ( น้ำตาลทราย ขนมหวาน น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส )สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผักสดร้อยละ 5.95 ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี และเห็ด เป็นช่วงที่ผักประเภทใบออกสู่ตลาดมากและได้รับผลกระทบน้อยจากสภาพอากาศที่ร้อน ไก่สด ร้อยละ 0.30 นมและผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.18 ( นมสด นมผง นมถั่วเหลือง )

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.33 เป็นอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ( เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.07 ) สาเหตุสำคัญ

เป็นผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 2.45 ยานพาหนะ ร้อยละ 0.39 ( รถยนต์ ) และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.53 ( ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า ) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.42 ( ปูนซีเมนต์ แผ่นไม้อัด ) และสุรา ร้อยละ 0.08

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.4 เป็นอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ร้อยละ 4.4 ได้รับผลกระทบมาจาก ดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 9.5 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.6 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 4.1 ผักและผลไม้ ร้อยละ 15.5 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.3 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.4 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.8 รวมทั้งผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ7.4 ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.3 ( ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา วัสดุก่อสร้าง ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.8 ( ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล ) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 13.6 ( ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์) อย่างไรก็ตามยังมีดัชนี หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ปรับลดลง คือ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 3.3 ( ผ้าและเสื้อผ้า) และหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 10.4 ( การบันเทิงและการอ่าน การศึกษา )

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงไตรมาสแรก (มกราคม - มีนาคม ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.8 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 39.5 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 51.7 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 4.0 ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร้อยละ 20.8 เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 8.1 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.1 ส่งผลให้ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.5 ในขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 4.3 เป็นผลจากการสูงขึ้นของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 8.7 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.4 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.9 ผักและผลไม้ ร้อยละ 15.7 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 1.7 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.4 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.8 เป็นสำคัญ

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ( คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม 2553 เท่ากับ 103.16 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.11

6.2 เดือนมีนาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4

6.3 เฉลี่ยช่วงไตรมาสแรก ( มกราคม - มีนาคม ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนมีนาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.11 ( เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.02)โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวทั้งสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะ และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง คือ วัสดุก่อสร้าง และสุรา

7. การที่เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมีผลต่อ

7.1 ประชาชน

ค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับภาวะที่เหมาะสม ไม่สูงมากนัก เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ทำให้ภาวะการจ้างงานเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ มีผลให้ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยเป็นปกติ

7.2 ผู้ผลิต

เมื่อดัชนีราคาผู้บริโภคเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจที่ผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานหรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานมากขึ้น

7.3 รัฐบาล

การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคและเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ชี้ให้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ และรัฐบาลยังใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างลื่นไหล ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่สะดุดลงไป

7.4 ธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะถือโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับปกติ และเป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มั่นคงยิ่งขึ้น

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ