ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน สิงหาคม 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday September 1, 2010 11:14 —กรมการค้าภายใน

ดัชนีราคาผู้บริโภคแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ มั่นคงและแข็งแรง

กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2553 เท่ากับ 108.57 เป็นการรายงานโดยใช้ตัวเลขหลังจุดทศนิยม 2 ตำแหน่งเป็นเดือนที่ 8 ตั้งแต่จัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคมานานกว่า 60 ปี โดยเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.3 เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 3.4) ถือว่าเป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี 2553 นี้ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.5 ซึ่งอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี(โดยคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นระหว่าง ร้อยละ 3.0 - 3.5 )

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2552 และปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพตั้งแต่ต้นปีนี้ คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ในเดือน ม.ค. ร้อยละ3.7 ในเดือน ก.พ. ร้อยละ 3.4 ในเดือนมี.ค. และร้อยละ 3.0 ในเดือนเม.ย. จนอยู่ในระดับร้อยละ 3.5 ในเดือนพ.ค., เดือนมิ.ย. ร้อยละ 3.3, ก.ค. ร้อยละ 3.4 และร้อยละ 3.3 ในเดือน ส.ค. แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2553 เทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสูงขึ้น ร้อยละ 0.23 โดยมีผลกระทบมาจากข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น ร้อยละ 1.5 ผลไม้สดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.94 ปลาและสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.92 น้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.1 ของใช้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.02 ผักสดลดลง ร้อยละ 2.14 เนื้อสัตว์ต่างๆ ลดลง ร้อยละ 0.14 ไข่ไก่ลดลง ร้อยละ 1.5 นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น ร้อยละ 0.71 สินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่เปลี่ยนแปลง

มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลได้แก่ ค่าไฟฟ้า รถเมล์ฟรี การตรึงราคาแก๊สหุงต้ม และการช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ยังคงมีส่วนช่วยทำให้ค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในภาวะที่แสดงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2553 โดยสรุปเป็นดังนี้

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2553

ใน ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนสิงหาคม 2553 เท่ากับ 108.57 ( เดือน กรกฎาคม 2553 คือ 108.32 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกรกฎาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.23

2.2 เดือนสิงหาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.3

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 8 เดือน ( มกราคม - สิงหาคม ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.5

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2553 เทียบกับ เดือนกรกฎาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.23 (เดือนกรกฎาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.16 ) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบางประเภทมีราคาสูงขึ้น สำหรับปัจจัยสำคัญที่ยังส่งผลให้ภาวะราคาสินค้าอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ผลไม้สด ข้าวสารเหนียว ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดและแบตเตอรี่รถยนต์ ในขณะที่สินค้าราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผักสด เนื้อสุกร ไก่สด ข้าวสารเจ้า ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผ้าและเสื้อผ้า วัสดุก่อสร้างและของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.48 ( เดือนกรกฎาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.36) สาเหตุสำคัญเป็นผลจากราคาสินค้าอาหารสดบางรายการยังมีระดับราคาสูง ประกอบด้วย ผลไม้สด ร้อยละ 2.94 ได้แก่ ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า เงาะ มะม่วง มะละกอสุก สับปะรด ฝรั่ง แอ๊ปเปิ้ล ส้มโอและลำไย เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางแห่งได้รับความเสียจากภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วมขังประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลสาร์ทจีน ทำให้ความต้องการบริโภคมีมาก ข้าวสารเหนียว ร้อยละ 9.75 เนื่องจากผลผลิตข้าวสารเหนียวออกสู่ตลาดมีปริมาณลดน้อยลง ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 1.92 ( ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิมและปลาทู ) เป็นผลจากภาวะฝนตกหนักน้ำท่วมปริมาณปลาและสัตว์น้ำที่จับได้ลดน้อยลง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.08 ( กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟร้อน/เย็น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง กาแฟและชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผักสด ร้อยละ 2.14 ประกอบด้วย ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี มะเขือเจ้าพระยา แตงกวา ถั่วฝักยาวและเห็ด เป็นผลกระทบจากภาวะฝนตกหนักน้ำท่วมผักบางชนิดได้รับความเสียหาย ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.38 ( ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมเปรี้ยว นมผง ) ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ในท้องตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เนื้อสุกร ร้อยละ 0.14 สภาพอากาศที่เย็นลงทำให้สุกรเติบโตได้ดีรวมทั้งสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มมีราคาลดลง ไก่สด ร้อยละ 1.76 และข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.23

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.07 ( เดือนกรกฎาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.03 ) สาเหตุสำคัญเป็นผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.64 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.08 ( ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า สารกำจัดแมลง ) และแบตเตอรี่รถยนต์ ร้อยละ 0.34 สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ผ้าและเสื้อผ้า ร้อยละ 0.09 ( เสื้อสตรี เสื้อเชิ้ตสตรี กางเกงขายาวเด็ก ) วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.08 ( ปูนซีเมนต์ แผ่นไม้อัด ) และของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด ( แชมพูสระผม น้ำหอม ครีมนวดผม กระดาษชำระ )

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนสิงหาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.3 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ร้อยละ 7.5 ได้รับผลกระทบมาจาก ดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 12.2 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.2 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.0 ผักและผลไม้ ร้อยละ 40.0 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 3.2 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.1 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.0 รวมทั้งผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 0.5 (ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.0 (ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.8 (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล ) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.2 ( การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.1 ( ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์)

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะ 8 เดือน (มกราคม - สิงหาคม ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.5 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 20.0 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 46.1 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 1.6 ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร้อยละ 11.1 เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 4.6 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.3 และจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.5 ในขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 5.2 เป็นผลจากการสูงขึ้นของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 9.9 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.3 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.2 ผักและผลไม้ ร้อยละ 23.9 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.3 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.3 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.9 เป็นสำคัญ

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ( คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2553 เท่ากับ 103.68 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนกรกฎาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.01

6.2 เดือนสิงหาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.2

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 8 เดือน ( มกราคม - สิงหาคม ) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.8

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 0.01 ( เดือนกรกฎาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.04 )โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวทั้งสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และแบตเตอรี่รถยนต์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ผ้า เสื้อผ้าและของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ