ชาวกรุงฯ คิดว่าการปฏิรูปการศึกษารอบสองมีโอกาสประสบความสำเร็จ
ธุรกิจบัณฑิตย์โพล โดยเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำรวจความคิดเห็นของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 โดยทำการสำรวจนักเรียน/นักศึกษา ครู/อาจารย์ ผู้ปกครองนักเรียน และประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 1,275 คน ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2553 พบว่า
ด้านการรับรู้
ชาวกรุงเทพฯ ในทุกกลุ่ม ได้แก่ ครู/อาจารย์ (ร้อยละ 94.9) ผู้ปกครองนักเรียน (ร้อยละ 82.7) นักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 70.7) และประชาชนทั่วไป (ร้อยละ 69.4) ส่วนใหญ่รับรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 และเมื่อสอบถามถึงระดับการรับรู้ พบว่าทุกกลุ่มรับรู้ในระดับปานกลาง โดยกลุ่มที่มีระดับการรับรู้มากที่สุด ได้แก่ ครู/อาจารย์ ส่วนกลุ่มที่มีระดับการรับรู้ต่ำสุด ได้แก่ ผู้ปกครองนักเรียน และประชาชนทั่วไป
ด้านปัจจัยความสำเร็จ
กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ครู/อาจารย์ และกลุ่มประชาชนทั่วไป เห็นว่า การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และมีการปฏิบัติได้จริงอย่างจริงจังและต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในการทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ ขณะที่ผู้ปกครองนักเรียน เห็นว่าการได้รับความร่วมมือของทุกฝ่ายตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้บริหารโรงเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
ในเรื่อง “รูปแบบที่น่าจะมีผลต่อความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา เพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทยมากที่สุด” ทุกกลุ่มเห็นว่า “การพัฒนาครู” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มนักเรียนและประชาชนทั่วไปเห็นว่า “การเตรียมป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับการศึกษาในอนาคตสำคัญกว่าที่จะคอยให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยคอยตามแก้ไข” ขณะที่กลุ่มครูและผู้ปกครองเห็นว่า “ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและเอกชนมีส่วนร่วมในด้านการศึกษามากขึ้น”
สำหรับปัจจัยที่กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปคิดว่าจะมีโอกาสช่วยทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้แก่ การส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถแข่งขันในทุกๆ ด้านกับต่างประเทศ ส่วนกลุ่มครู/อาจารย์นั้นคิดว่าการพัฒนาให้ผู้เรียนเก่ง ดี มีสุข โดยเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
ด้านโอกาสความสำเร็จ
กลุ่มครู/อาจารย์และผู้ปกครองคิดว่าจะมีโอกาสสำเร็จร้อยละ 63 ขณะที่ประชาชนทั่วไป คิดว่าน่าจะมีโอกาสสำเร็จร้อยละ 62 ส่วนนักเรียนคิดว่าจะมีโอกาสสำเร็จร้อยละ 58 เท่านั้น
--ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์--