ความสุขของคนกรุงเทพฯ ในเดือนกันยายน 2552 ใกล้เคียงกับที่สำรวจเมื่อปีที่แล้ว (มกราคม 2551)
ธุรกิจบัณฑิตย์โพล ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความสุขของชาวกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7 เมื่อปลายเดือน สิงหาคม 2552 โดยสอบถามชาวกรุงเทพฯ จำนวน 1,118 คน กระจายไปตาม เพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา ผลการสำรวจโดยสรุปเป็นดังนี้
ความสุขของชาวกรุงเทพฯ เมื่อวัดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 8 ด้าน ได้แก่ “การมีเงินพอใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน” “ความเข้าใจและเห็นใจของสมาชิกในครอบครัว” “ความยินดีทำประโยชน์หรือกิจกรรมเพื่อสังคมเมื่อมีโอกาส” “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” “ความเป็นอิสระในการใช้ความคิดในการทำงาน” “ความสำเร็จในหน้าที่การงาน” “การคิดดีและทำในสิ่งที่ดี” และ“ความพอใจในฐานะความเป็นอยู่” พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3.40 จากระดับสูงสุด 4.00 เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว (มกราคม 2551) ซึ่งอยู่ในระดับ 3.42 หมายความว่า ความสุขของคนกรุงเทพฯ ลดลงเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.58 เท่านั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสุขของชาวกรุงเทพฯ ลดลง คือ “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” ลดลงร้อยละ 3.73 เนื่องจากมีการโจรกรรมมากขึ้น และ “ความเป็นอิสระในการใช้ความคิดในการทำงาน” ลดลงร้อยละ 2.11 เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซาทำให้งานรัดตัวมากขึ้น
เมื่อพิจารณาความสุขของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วจำแนกตามเพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา พบว่า ชาวกรุงเทพฯ เพศชายและเพศหญิง มีความสุขน้อยกว่าเดิมร้อยละ 2.35 และ 1.75 ชาวกรุงเทพฯ อายุต่ำกว่า 40 ปี มีความสุขน้อยลงร้อยละ 2.05 ในขณะที่มีอายุ 40 - 49 ปี มีความสุขเท่ากับปีที่แล้ว แต่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.08 อาจเป็นสาเหตุจากผู้สูงอายุบางส่วนได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 500 บาท จากรัฐบาล
ชาวกรุงเทพฯ ทุกกลุ่มอาชีพมีความสุขน้อยลงระหว่างร้อยละ 0.29 ถึง 8.97 และชาวกรุงเทพฯ ทุกระดับการศึกษามีความสุขน้อยลงระหว่างร้อยละ 1.45 ถึง 2.15 เนื่องจากรายได้ที่ถดถอยและสถานะการเมืองที่ยังครุกรุ่นอยู่
--ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์--