ความเชื่อของชาวกรุงเทพฯ เกี่ยวกับสุภาษิตไทย
ธุรกิจบัณฑิตย์โพล ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวกรุงเทพฯ ที่มีต่อความเชื่อในสุภาษิตที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทุกๆ 3 เดือน สำหรับการสำรวจครั้งที่ 7 นี้ ได้ทำการสำรวจเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2552 โดยสอบถามชาวกรุงเทพฯ จำนวน 1,118 คน กระจายไปตาม เพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา สรุปผลสำคัญได้ดังนี้
ปัจจุบันความเชื่อในสุภาษิตไทยโดยรวมของชาวกรุงเทพฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.66 เมื่อเทียบกับครั้งแรก (มกราคม 2551) สะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบันสังคมไทยยังมีความเชื่อในหลักการปฏิบัติในชีวิตที่ดีเกือบเท่ากับปีที่ผ่านมา
ชาวกรุงเทพฯ ให้ความเชื่อต่อสุภาษิต “เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” ลดลงถึงร้อยละ 4.90 สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากคนหนุ่มคิดได้รวดเร็วและกล้าตัดสินใจได้เร็ว
เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซาทำให้รายได้ลดน้อยถอยลงโอกาสที่จะมีเงินเหลือ เพื่อการออมน้อยลงไปอาจเป็นสาเหตุทำให้ชาวกรุงเทพฯ เชื่อในสุภาษิต “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” ลดลงร้อยละ 4.01
นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาและการเมืองที่ไม่สงบนิ่งทำให้คนกรุงเทพฯ มีความเชื่อมั่นในตัวเองลดน้อยลงจึงให้ความเชื่อในสุภาษิต “แข่งเรือแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้” เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.83
--ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์--