ต้นเบาบับ (Baobab Tree) เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นจำนวนมาก บางต้นเก็บน้ำได้มากถึงกว่า 100,000 ลิตร โดยทั่วไปมีอายุมากถึง 1,000-3,000 ปี ต้นเบาบับที่โตเต็มที่อาจมีขนาดรอบลำต้นใหญ่มากกว่า 50 คนโอบ เอกลักษณ์พิเศษของต้นเบาบับคือด้านบนของต้นมีกิ่งแตกแขนงออกมาคล้ายรากต้นไม้ จึงเป็นที่มาของอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ต้นไม้กลับหัว (Upside Down Tree)
ต้นเบาบับมีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาและออสเตรเลีย ชาวแอฟริกันใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นเบาบับ อาทิ ใบรับประทานได้แทนผักสด เนื้อสีขาวภายในผลมีรสเปรี้ยว นิยมนำมาผสมนมหรือข้าวต้มเพื่อรับประทานเป็นอาหารหรือทำขนม รากใช้สกัดทำยา และเปลือกของต้นใช้ทำเชือก แห เสื่อ และกระดาษคุณภาพดี
นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า เนื้อของผลเบาบับมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากมีวิตามิน C สูงกว่าส้มราว 6 เท่าและมีแคลเซียมมากกว่านม 2 เท่า อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคมะเร็งและเบาหวาน ได้มากกว่ากีวีและแอปเปิลถึง 4 เท่า รวมทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามิน B1 B2 B3 B6 โซเดียม และแมงกานีส
ทั้งนี้ เบาบับสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งเครื่องดื่ม แยม ขนมขบเคี้ยว และขนมปัง นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมันสกัดจากเมล็ดเบาบับอุดมด้วยวิตามินซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดริ้วรอยและไม่ทำให้รูขุมขนอุดตัน เบาบับจึงเป็นที่ต้องการมากในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเช่นกัน โดยนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของครีมบำรุงผิว แชมพู และโคลนพอกหน้า
ท่ามกลางกระแสรักสุขภาพซึ่งผู้บริโภคหันมาเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ในการรักษาและป้องกันโรคต่างๆ ทำให้เบาบับซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีรสชาติอร่อยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในวงการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของโลกโดยเฉพาะหลังจาก EU ซึ่งเป็นผู้นำตลาดอาหารเพื่อสุขภาพอนุญาตให้นำเข้าเนื้อเบาบับแห้งเพื่อเป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม และอาหารเสริมได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 และสหรัฐฯ กำหนดให้เบาบับเป็นพืชที่บริโภคได้อย่างปลอดภัยและอนุญาตให้ใช้เนื้อเบาบับแห้งเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552
คณะกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกอนุมัติให้ใช้เบาบับเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มอย่างเป็นทางการสำหรับนักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2553 ที่ประเทศแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะทำให้เบาบับเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดโลกและกระตุ้นให้ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากเบาบับมากขึ้น นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เบาบับยังเหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการช่วยเหลือสังคม เนื่องจากการบริโภคเบาบับนับได้ว่ามีส่วนช่วยเหลือชาวแอฟริกาจำนวนมากที่มีฐานะยากจนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการเก็บผลเบาบับมาขาย
ปัจจุบันนอกจากประเทศในทวีปแอฟริกาจะผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเบาบับแล้ว ยังผลิตและส่งออกวัตถุดิบเบาบับหลากหลายรูปแบบไปทั่วโลกเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆ หันมาใช้เบาบับเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวแอฟริกา การที่เบาบับสามารถตอบโจทย์กระแสการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคที่หันมาสนใจป้องกันโรคมากขึ้นด้วยการใช้พืชจากธรรมชาติแทนสารสังเคราะห์จนประสบความสำเร็จในการเจาะตลาด EU และสหรัฐฯ ได้ในระดับหนึ่งนั้นเป็นตัวอย่างที่ผู้ประกอบการไทยควรใช้เป็นแนวทางพัฒนาการผลิตและส่งออกพืชผัก ผลไม้ และสมุนไพรที่เรามีอยู่มากมายหลากหลายชนิด โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการแปรรูปสินค้าเกษตรของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการขยายตลาดพืชผักสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหันมาพัฒนาพืชผักสมุนไพรไทยอย่างจริงจัง โดยนอกจากส่งเสริมการวิจัยถึงประโยชน์และสรรพคุณ รวมถึงข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการบริโภค รวมถึงประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดโลกแล้ว การหาแนวทางแปรรูปพืชผักสมุนไพรไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและการทำให้ประเทศผู้บริโภครายสำคัญ โดยเฉพาะ EU สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งมีกฎระเบียบการนำเข้าเข้มงวดมากยอมรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยในเบื้องต้นอาจพัฒนาเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางซึ่งกฎระเบียบการนำเข้าเข้มงวดน้อยกว่า ก่อนจะพัฒนาต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และอาหารเสริมต่อไป
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เมษายน 2554--