เบ็ดเตล็ดน่ารู้: ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในฝรั่งเศส

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 19, 2011 14:30 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ฝรั่งเศสเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่น่าสนใจของผู้ส่งออกไทย เนื่องจากประชากรฝรั่งเศสมีกำลังซื้อสูงด้วยรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงถึง 42,766 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประกอบกับชาวฝรั่งเศสมักให้ความสำคัญกับการแต่งตัวและแฟชั่นตามสมัยนิยม ทำให้อัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพดี สวยงามและทันสมัยเป็นที่ต้องการในตลาดฝรั่งเศส ส่งผลให้ฝรั่งเศสเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ EU รองจากอิตาลี ด้วยมูลค่าตลาดสูงถึง 4,056 ล้านยูโร (ราว 5,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในแต่ละปีชาวฝรั่งเศสใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออัญมณีและเครื่องประดับสูงถึง 65.6 ยูโรต่อคน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของ EU ที่ 47.2 ยูโรต่อคน

นอกจากนี้ จำนวนร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรวมถึงการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนโอกาสทางการตลาดของสินค้าดังกล่าว

รายละเอียดที่น่าสนใจของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในฝรั่งเศส

1. แนวโน้มตลาด หลังจากฝรั่งเศสต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงราคาสินค้ามากขึ้น ทำให้เครื่องประดับเงินและเครื่องประดับแฟชั่น(Costume Jewelry) ซึ่งมีราคาไม่แพงนักเป็นที่นิยมในตลาดฝรั่งเศสมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องประดับแฟชั่นที่มีการออกแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาลและสวยงามสะดุดตา รวมถึงมีช่องทางการจำหน่ายหลากหลายทำให้ผู้บริโภคทุกระดับสามารถเข้าถึงสินค้าได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันฝรั่งเศสเป็นตลาดเครื่องประดับแฟชั่นขนาดใหญ่ที่สุดใน EU

2. กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับในฝรั่งเศสได้แก่ สตรีวัยทำงานตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป(อายุ 40-54 ปี) ที่มีรายได้สูงและมีเงินออมจำนวนมาก ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักถูกดึงดูดด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นและสื่อโฆษณาต่างๆนักท่องเที่ยวต่างชาติในฝรั่งเศสเป็นลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพสูงในการขยายตลาด เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในฝรั่งเศสราว 80 ล้านคน ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการเครื่องประดับที่มีการออกแบบแบบตะวันตกและทันสมัย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจและมีสัดส่วนในตลาดฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น อาทิ เด็กก่อนวัยรุ่นถึงวัยรุ่น (อายุ 8-14 ปี) และผู้ย้ายถิ่นมาจากยุโรป แอฟริกาและเอเชีย รวมทั้งกลุ่มผู้ชายที่หันมานิยมเครื่องประดับ เช่น เข็มกลัดเนกไท กระดุมแขนเสื้อ และสร้อยข้อมือ

3. รสนิยม ชาวฝรั่งเศสนิยมเครื่องประดับมีค่า (Precious Jewelry)เช่น เพชร เงิน ดังเห็นได้จากมูลค่าตลาดเครื่องประดับมีค่ามีสัดส่วนถึง80% ของมูลค่าตลาดอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดในฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม เครื่องประดับที่ทำจากวัสดุประเภทอื่น เช่น แก้วไม้ รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำด้วยมือ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ชาวฝรั่งเศสนิยมเครื่องประดับขนาดเล็ก สตรีชาวฝรั่งเศสนิยมสวมแหวนหลายวงในนิ้วเดียวกันมากกว่าสวมแหวนวงใหญ่เพียงวงเดียว

4. ช่องทางการจำหน่าย ชาวฝรั่งเศสนิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจากร้านค้าของผู้ผลิต รวมทั้งร้านค้าในห้างสรรพสินค้า เพราะได้รับการรับรองและรับประกันคุณภาพสินค้า นอกจากนี้บางส่วนยังนิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจากร้านค้าในไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกสินค้าแฟชั่น สำหรับช่องทางการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปฝรั่งเศส ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งออกสินค้าผ่านเครือข่ายผู้นำเข้าหรือนายหน้า ซึ่งจะเป็นผู้จำหน่ายตรงให้แก่ร้านค้าปลีกที่มาเลือกซื้อสินค้าที่สำนักงานหรือผ่านตัวแทนของเครือข่ายผู้นำเข้าอีกต่อหนึ่ง สิ่งสำคัญที่ผู้ส่งออกต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรกในการส่งออกคือ การจัดส่งสินค้าตรงตามกำหนดเวลา เนื่องจากสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมักมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามแฟชั่น ทำให้ร้านค้าปลีกสั่งซื้อสินค้าต่อเนื่องตลอดทั้งปี

สำหรับการประชาสัมพันธ์สินค้า ผู้ส่งออกอาจใช้ช่องทางผ่านสมาคมการค้าของกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับในฝรั่งเศส เช่น The Federation of Watchmakers และ Jewellers and Goldsmithsรวมทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เช่น Eclat de Mode, Orhopa, EuroGem และ Kara

5. กฎระเบียบการนำเข้า

  • มาตรฐานสินค้า ผู้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากต่างประเทศต้องยื่นเอกสารข้อมูลสินค้าและข้อมูลบริษัทโดยละเอียดต่อ Bureau de Garantie ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจ การเงิน และอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส (Ministere de l’Economie, des Finances et de l’Industrie) เพื่อตรวจสอบมาตรฐานสินค้า นอกจากนี้ เครื่องประดับมีค่าทุกชนิดต้องมีตรารับรองสินค้าหรือที่เรียกว่า Poincon เพื่อแสดงถึงชนิดและลักษณะของสินค้ารวมทั้งความรับผิดชอบของผู้นำเข้าสินค้า โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมรับรอง 8 ยูโรต่อชิ้นสำหรับเครื่องประดับทองและ 4 ยูโรต่อชิ้นสำ??หรับเครื่องประดับเงิน
  • อัตราภาษี ฝรั่งเศสเรียกเก็บภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับในอัตรา 0-4% ได้แก่ เครื่องประดับแฟชั่นเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 4% เครื่องประดับมีค่าในอัตรา 2.5% เครื่องประดับมุกและพลอยในอัตรา 0% นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา19.6%

ปัจจุบันการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปฝรั่งเศสมีมูลค่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นขณะที่ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในฝรั่งเศสมีการแข่งขันค่อนข้างสูงเนื่องจากผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสมักไม่ยึดติดกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ในการขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในฝรั่งเศส ผู้ประกอบการควรพัฒนาความชำนาญในด้านต่างๆ เช่น การเชื่อม การชุบโลหะและการออกแบบ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม คงทน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งสร้างเครื่องหมายการค้าของตนเองให้เป็นที่ยอมรับรวมถึงรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการส่งมอบสินค้าตรงตามกำหนดเวลา

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เมษายน 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ