ภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย: การใช้ AFTA ให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 19, 2011 15:15 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ภายใต้เป้าหมายในการก้าวสู่การเป็น AEC หนึ่งในภารกิจสำคัญที่เป็นกรอบนำร่องของการมุ่งสู่จุดหมายดังกล่าวคือ การเปิดเสรีภายใต้ AFTA ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ สินค้าส่งออกของไทยรายการใดได้ประโยชน์จาก AFTA

          การลดภาษีสินค้าที่อยู่ในบัญชีลดภาษี            ปี 2553           ปี 2558
          ASEAN-6                              ภาษี 0%
          เวียดนาม, สปป.ลาว, พม่า, กัมพูชา                          ภาษี 0%

การพิจารณาว่าสินค้าชนิดใดจะได้ประโยชน์จาก AFTA จำเป็นต้องแยกพิจารณาตลาด ASEAN เดิม 5 ประเทศ* และตลาด ASEAN ใหม่ 4 ประเทศออกจากกัน เนื่องจากในตลาด ASEAN เดิมซึ่งกำหนดให้ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปี 2553 แต่ในทางปฏิบัติกว่า 80%ของสินค้าทั้งหมดได้ลดอัตราภาษีลงเหลือ 0% ตั้งแต่ปี 2550 ทำให้ในปัจจุบันเริ่มเห็นชัดเจนว่าการส่งออกสินค้าภายใต้ AFTA ไปยังตลาด ASEAN เดิม 5 ประเทศมีสินค้าใดได้ประโยชน์บ้าง

สินค้าที่จะได้ประโยชน์จาก AFTA ต้องเข้าข่ายองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

1. แต้มต่อทางภาษี สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีปกติ(MFN Rate) และอัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากันภายใต้ AFTA(Common Effective Preferential Tariff : CEPT Rate) กว่า 99%ของสินค้าทั้งหมดที่ค้าขายกันกับประเทศใน ASEAN เป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ AFTA (CEPT Rate เท่ากับ 0%) อย่างไรก็ตาม มีสินค้าจำนวนไม่น้อยที่มีอัตราภาษีนำเข้าปกติเท่ากับ 0% อยู่แล้วซึ่งถือได้ว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้รับแต้มต่อทางภาษี ทำให้ผู้ส่งออกรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าและมีค่าใช้จ่ายมากกว่า เช่น กรณีของประเทศสิงคโปร์ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มีภาษีนำเข้า MFN Rate เป็น 0% อยู่แล้วทำให้ผู้ส่งออกไทยได้ประโยชน์ด้านภาษีจาก AFTA ในการส่งออกไปยังสิงคโปร์ไม่มากนัก

หมายเหตุ * ไม่รวมไทย

2. การใช้สิทธิประโยชน์ สินค้าบางประเภทแม้ได้รับแต้มต่อทางภาษีภายใต้ AFTA แต่อัตราการใช้สิทธิทางภาษีจาก AFTA กลับอยู่ในระดับต่ำ อาทิ การส่งออกเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นไปตลาดบรูไนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ AFTA ขณะที่ภาษี MFN Rate สูงถึง 500% แต่ปรากฏว่า ผู้ส่งออกไทยกลับใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTAในการส่งออกสินค้าดังกล่าวเพียง 30-40% ของมูลค่าส่งออกรวมหรือการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปอินโดนีเซียซึ่งไทยได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ AFTA ขณะที่อัตราภาษี MFN Rate อยู่ที่ราว 10-15% แต่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก AFTA เพียง 50% ของมูลค่าส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมดไปตลาดอินโดนีเซีย ทั้งนี้มีสาเหตุหลายประการซึ่งทำให้ผู้ส่งออกไม่ใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ AFTA อาทิวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นๆ ไม่เป็นไปตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า(Rule of Origins) บางประเทศมีการใช้ NTMs อย่างเข้มงวด รวมไปถึงผู้ประกอบการบางรายขาดความรู้เรื่อง AFTA เป็นต้น

3. ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ถือเป็นปัจจัยสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้ส่งออกได้รับ โดยในเบื้องต้นความสามารถในการแข่งขันอาจวัดได้จากส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยบางรายการแม้ได้รับแต้มต่อทางภาษี ขณะที่อัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ในระดับสูง แต่ไทยกลับต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งอื่นๆ ใน ASEAN ซึ่งได้ประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ AFTA เช่นกัน เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอาจด้อยกว่าคู่แข่งอื่นๆ ใน ASEAN อาทิ การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปอินโดนีเซีย แม้สินค้าไทยได้แต้มต่อทางภาษีในอัตราสูง (CEPT Rate อยู่ที่ 0% ขณะที่ MFN Rate อยู่ที่ 5-20%) ขณะเดียวกันอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ก็สูงกว่า 80% แต่ไทยกลับเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับมาเลเซียและเวียดนามซึ่งมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงในสินค้าดังกล่าวและได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ AFTA เช่นเดียวกัน

โดยสรุปแล้ว ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการใช้ประโยชน์จาก AFTA ในการส่งออกไปตลาด ASEAN เดิม 5 ประเทศอยู่ที่สินค้านั้นต้องได้รับแต้มต่อทางภาษี มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ในระดับสูง ขณะเดียวกันต้องเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งใน ASEANด้วยกันเอง ดังปรากฏในตาราง

สำหรับตลาด ASEAN ใหม่ 4 ประเทศ แม้ปัจจุบันผู้ส่งออกยังใช้ประโยชน์จาก AFTA ไม่มากนัก แต่ AFTA กำหนดให้ประเทศสมาชิก ASEAN ใหม่ 4 ประเทศต้องลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับ IL ให้เหลือ 0%ภายในปี 2558 ทำให้คาดว่าจะมีสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการน่าจะได้ประโยชน์จาก AFTA ในระยะถัดไป

ธุรกิจท่องเที่ยวจากอานิสงส์เปิดเสรีภาคบริการ ASEAN

ท่ามกลางปัจจัยลบที่ถาโถมเข้าบั่นทอนธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิในช่วงปลายปี2547 เหตุระเบิดกรุงเทพฯ หลายจุดในช่วงสิ้นปี 2549 เหตุการณ์ปิดสนามบินในช่วงปลายปี 2551 จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี2552 ล้วนทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แม้ในช่วงต้นปี 2553 เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทำให้หลายๆ ธุรกิจของไทยรวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวมีแนวโน้มเริ่มกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง แต่ก็ต้องเผชิญกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดรอบใหม่เมื่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองลุกลามบานปลาย จนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัจจัยด้านความมั่นคงภายในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามคาดว่าหลังจากพายุลมแรงพัดผ่านไปธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาขยายตัวอย่างมั่นคงได้อีกครั้ง เพราะด้วยปัจจัยพื้นฐานแล้ว ภาคเอกชนของไทยในธุรกิจท่องเที่ยวนับว่ามีความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากในการให้บริการและการทำตลาดผนวกกับมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการในตัวอุตสาหกรรมเอง ซึ่งนับเป็นจุดแข็งของภาคการท่องเที่ยวไทย

จุดแข็งการท่องเที่ยวไทย...มีฐานรากที่มั่นคงเป็นทุนเดิม

ภาคการท่องเที่ยวทวีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันจำนวนการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP อยู่ที่ 8% จุดได้เปรียบที่เป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีหลายประการ ดังนี้

1. ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ โดยล่าสุด Tripadvisorเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวระดับโลก ได้จัดอันดับ 10 สุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวประจำปี 2553 ปรากฏว่ามีแหล่งท่องเที่ยวของไทยติดอันดับถึง 4 แห่งได้แก่ เกาะลันตา เขาหลัก เกาะพะงัน และเกาะสมุย นอกจากนี้กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และอยุธยายังติด 1 ใน 10 แหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมยอดเยี่ยมของเอเชียอีกด้วย

2. ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในไทยไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย

3. โรงแรมที่พักในประเทศไทยมีคุณภาพ มีหลายระดับราคา และมีหลายประเภทให้เลือก โดยโรงแรมในไทยติดอันดับโรงแรมดีที่สุด 50อันดับแรกของเอเชียถึง 8 แห่งในปี 2551* มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นใน ASEAN

4. อาหารไทยเป็นที่เลื่องชื่อไปทั่วโลกจนทำให้กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้ติด 1 ใน 10 ของจุดหมายด้านอาหารและไวน์ของเอเชีย**

5. ทำเลที่ตั้งของประเทศไทยถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของ ASEAN ทำให้สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวในการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไปในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

6. การให้บริการด้วยไมตรีจิตที่ดีเยี่ยมของคนไทยเป็นเสมือนตราสินค้าไทยซึ่งยากที่ชาติใดจะลอกเลียนแบบได้ คำกล่าวที่ว่าไทยเป็น

  • จัดอันดับโดย Travel and Leisure Magazine

** จัดอันดับโดยเว็บไซต์ Tripadvisor

“Land of Smile” ยังใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อยู่เสมอ เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายรับด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้สะดุดลงบ้างในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ก็ตาม

เปิดเสรีภาคบริการ ASEAN...ขยายโอกาสธุรกิจท่องเที่ยวไทย

นอกเหนือจากความได้เปรียบของภาคการท่องเที่ยวไทยจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศและความชำนาญของผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยสามารถยืนอยู่ในระดับแถวหน้าของภูมิภาคได้อย่างเต็มภาคภูมิคือ ความร่วมมือเพื่อจัดตั้ง AEC ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศใน ASEAN เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันและมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรีภายในปี2558 โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมาประเทศสมาชิก ASEAN เดิม 6 ประเทศได้ลดอัตราภาษีศุลกากรลงเหลือ 0% สำหรับ IL ในรายการสินค้า 99% (ที่เหลือเป็นสินค้าอ่อนไหวเพียงไม่กี่รายการ)ขณะที่ในส่วนของภาคบริการของประเทศ ASEAN เดิมได้มีการเปิดเสรีใน 4 สาขาบริการเร่งรัด (Priority Services Sectors) ประกอบด้วยสาขาท่องเที่ยว โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ (e-Asean) สุขภาพและการขนส่งทางอากาศ ซึ่งภายใต้ข้อตกลงเปิดโอกาสให้นักลงทุนASEAN สามารถเข้ามาถือหุ้นในสาขาดังกล่าวในประเทศสมาชิก ASEANเดิมได้ไม่น้อยกว่า 70% และประเทศสมาชิก ASEAN เดิมต้องเร่งขจัดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Market Access) รวมทั้งต้องประติบัติต่อนักลงทุนต่างชาติเยี่ยงนักลงทุนในชาติ (National Treatment) หมายถึงกฎระเบียบที่ใช้กับนักลงทุนต่างชาติต้องเสมือนกับที่ใช้กับนักลงทุนในชาติทั้งนี้นอกเหนือจากบริการใน 4 สาขาข้างต้นแล้ว ยังมีการทยอยขยายขอบเขตการเปิดเสรีในสาขาโลจิสติกส์ในปี 2556 และบริการอื่นๆทุกสาขาให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 อีกด้วย

จากการเปิดเสรีในสาขาบริการข้างต้น เป็นที่คาดว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในสาขา e-ASEAN และโลจิสติกส์ เนื่องจากสิงคโปร์มีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เทคโนโลยี และบุคลากรที่มีทักษะเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ใน ASEAN เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยสนับสนุนและข้อได้เปรียบต่างๆ ในสาขาท่องเที่ยวของไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยและบริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สปา นวดแผนไทยบริษัทนำเที่ยว ตลอดจนธุรกิจสุขภาพที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดูแลสุขภาพ ธุรกิจบริการรักษาทางการแพทย์ ธุรกิจดูแล

ผู้สูงอายุ และธุรกิจเสริมความงาม จะได้ประโยชน์อย่างมากจากการเปิดเสรีดังกล่าวในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจากในและนอก ASEAN ที่จะเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของไทยกับคู่แข่งสำคัญใน ASEAN แล้ว แม้ไทยจะเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซียในด้านปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวจากการจัดอันดับของ World Economic Forum และเป็นรองมาเลเซียในแง่จำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากพิจารณาในแง่ปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวพบว่า ประเทศไทยมีอยู่อย่างครบถ้วนและไม่เป็นที่ 2 รองใครอย่างแน่นอน สะท้อนได้จากรายรับด้านการท่องเที่ยวของไทยที่สูงสุดใน ASEAN ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เปิดเสรีภาคบริการภายใต้ AEC...สู่มิติใหม่ของการขยายเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวนอกประเทศ

ภายใต้ข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆ ที่มีแนวโน้มเปิดเสรีมากขึ้นเพื่อมุ่งสู่การเป็น AEC ในปี 2558 โดยเฉพาะกฎระเบียบเกี่ยวกับการถือหุ้นของนักลงทุนจากประเทศสมาชิก ASEAN ที่ผ่อนปรนลง นับเป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพในการขยายเครือข่ายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ใน ASEAN ธุรกิจเหล่านั้นได้แก่

1. ธุรกิจร้านอาหาร สปา และนวดแผนไทยในประเทศที่มีกำลังซื้อสูง เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย

2. ธุรกิจโรงแรมระดับกลางขึ้นไปหรือการรับจ้างบริหารโรงแรมบริษัทนำเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนามซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจจำนวนมาก

3. ธุรกิจโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะตามเมืองหลวงหรือเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ซึ่งยังมีความต้องการบริการเหล่านี้อีกมากทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ต้องตระหนักว่าการเปิดเสรีที่เกิดขึ้นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยีเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในธุรกิจโรงแรมที่จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงและต้องการบุคลากรที่มีทักษะ โดยเฉพาะด้านภาษาซึ่งยังเป็นข้อจำกัดสำคัญของบุคลากรไทย

เร่งใช้ประโยชน์จากข้อตกลงภายใต้ ASEAN พร้อมสร้างแบรนด์ท่องเที่ยวไทย

การที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศใน ASEAN มีแนวโน้มเกี่ยวข้องสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวต้องหันมาคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงและโอกาสที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศประกอบกันอย่างเป็นระบบ เพื่อปรับมุมมองการทำตลาดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สามารถกระจายความเสี่ยงและสามารถเชื่อมโยงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหลายๆ ประเภทในประเทศต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในการเปิดเสรีระหว่างประเทศอย่าง AEC ที่จะมีการผ่อนปรนกฎระเบียบและข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ อาทิ ร่วมมือกันใช้ประโยชน์จากเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงกันระหว่างประเทศ ASEAN โดยจัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยวครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้ครบทุกประเทศ ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งโรงแรม บริษัททัวร์ และร้านอาหารในการต่อยอดและขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านนอกจากนี้ ไทยควรสร้างความโดดเด่นหรือสร้างแบรนด์ด้านการท่องเที่ยวของตนเอง เมื่อนักท่องเที่ยวนึกถึงประเทศไทยจะนึกถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอันดับแรก อาทิ การให้บริการด้วยรอยยิ้มและความมีไมตรีจิตของคนไทย ความโดดเด่นของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ผสมผสานไปกับวิถีชีวิตของคนไทย เช่น การพาเที่ยวพร้อมสอนทำอาหารและขนมไทย การท่องเที่ยวและพักในรูปแบบโฮมสเตย์ อีกทั้งการสร้างจุดขายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค อันจะเป็นการดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาพักในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งหากภาคการท่องเที่ยวของไทยสามารถปรับใช้กลยุทธ์ต่างๆ ข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูญเสียไปเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกเช่นในอดีตที่ผ่านมา

Top 10 สินค้ามาแรงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโลกที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมาทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น การซื้อบ้านหลังที่สองและสินค้าแฟชั่นลดลง รวมทั้งนิยมหาความสุขความบันเทิง อาทิ รับประทานอาหาร ดูหนังฟังเพลง และออกกำลังกายที่บ้านมากขึ้น แทนการไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้บริโภคผ่านประสบการณ์ในการใช้จ่ายทั้งในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูและช่วงซบเซาอย่างหนักมาแล้ว ประกอบกับหากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวขึ้นรอบใหม่ มีความเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคจะใช้ปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากปัจจัยด้านราคาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ

แนวโน้มหรือเทรนด์สินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมและมาแรงในตลาดการค้าโลกหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

1. สินค้าอเนกประสงค์ (All-in-One) ผู้บริโภคมีแนวโน้มคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยของสินค้าที่ต้องมีคุณสมบัติในการทำงานได้หลากหลายในสินค้าเดียว เช่น โทรศัพท์มือถือที่ไม่เป็นเพียงเครื่องมือติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถใช้เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา กล้องถ่ายรูป และเครื่องเสียงไปพร้อมๆ กัน เพื่อตอบสนองรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป แม้คุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้สินค้ามีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป แต่ด้วยประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลายจะช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคเห็นถึงความคุ้มค่าของเงินที่เสียไปเพื่อแลกกับความครบครันและความสะดวกสบายที่จะได้รับ

2. สินค้าที่มุ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถประกอบได้เอง (Do It Yourself : DIY) ซึ่งนอกจากจะเป็นสินค้าจำพวกเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้านแล้ว ยังรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องประดับประกอบเองได้ เพราะผู้บริโภคแต่ละคนสามารถออกแบบหรือเลือกวัสดุที่นำมาประกอบ รวมถึงสามารถตกแต่งสีสันของผลิตภัณฑ์ได้ตามใจชอบ ทำให้มีรูปแบบไม่ซ้ำใคร นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและเป็นการเปลี่ยนปัจจัยการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคจากราคามาเป็นความพึงพอใจเฉพาะของแต่ละบุคคล

3. สินค้าย้อนอดีตที่ผสมผสานความทันสมัย (Retro Nova) ยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความไฮเทคของเทคโนโลยีท่ามกลางกระแสที่ผู้คนเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญกับความคลาสสิกของอดีต ทำให้เกิดการผลิตสินค้าในลักษณะ Retro Nova ขึ้น สินค้าดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในเรื่องการใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยอำนวยความสะดวกด้านการใช้สอยควบคู่ไปกับการสร้างความสุขทางด้านจิตใจผ่านการย้อนมองภาพในอดีต เช่น นาฬิกาที่มีรูปลักษณ์ย้อนยุค แต่กลไกเป็นไมโครชิปที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องเสียงที่เลียนแบบวิทยุโบราณแต่มีฟังก์ชันการใช้งานครบครัน เป็นต้น

4. สินค้าทำด้วยมือ (Handmade) คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันทำให้สินค้าที่ผลิตได้แทบไม่มีความแตกต่างกัน (Homogeneous) ขณะที่สินค้าทำด้วยมือสามารถสร้างจุดขายจากความแตกต่างและการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้มากกว่าสินค้าที่ผลิตครั้งละจำนวนมากๆ

5. สินค้าที่เน้นการออกแบบและบรรจุภัณฑ์ แม้ผู้บริโภคจะคำนึงถึงคุณค่าและประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแรกที่ดึงดูดใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อสินค้าคือ รูปลักษณ์ภายนอกและบรรจุภัณฑ์ (Design & Packaging) ของสินค้า ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้บริโภคลดความสนใจในปัจจัยด้านราคาและคุณภาพลง แต่หันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านจิตใจของตนเองมากขึ้น

6. สินค้าที่ปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน แนวคิดนี้เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจากองค์กร Fairtrade Labelling Organizations International (FLO)ได้นำฉลาก Fair Trade มาใช้อย่างแพร่หลายเมื่อปี 2545 เพื่อแสดงให้เห็นว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นซื้อจากเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาด้วยราคาที่เป็นธรรม ไม่มีการกดขี่แรงงาน ไม่ใช้แรงงานเด็กและสนับสนุนให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้นปัจจุบันมีสินค้าที่ได้รับการรับรอง Fair Trade ทั่วโลกแล้วกว่า 4,500รายการในหลายกลุ่มสินค้า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร อาทิ กาแฟโกโก้ กล้วย น้ำตาล ฝ้าย น้ำผึ้ง และดอกไม้ คาดว่าผู้บริโภคโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วจะนำประเด็นความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) มาเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการมากขึ้น จากปัจจุบันที่พบว่าชาวยุโรปราว 1 ใน 5 ยินดีจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม

7. สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ผู้บริโภคจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้าที่ใส่ใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในกระบวนการผลิต ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเช่น ISO 14000, Carbon Footprint, Eco-labeling and Packagingของผลิตภัณฑ์ควบคู่กันไปด้วย

8. สินค้าพร้อมรับประทาน วิถีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบและชั่วโมงทำงานที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วมีความหลากหลายและอร่อย ทำให้ตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทานได้รับความนิยมเป็นอย่างมากซึ่งแนวโน้มนี้จะขยายไปยังประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ

9. สินค้าเพื่อสุขภาพ (Organic & Functional Food) ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดที่รุนแรงขึ้นทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic Food)ที่ผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี รวมทั้งตลาดอาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีส่วนผสมที่ช่วยบำรุงร่างกาย (Functional Food) เช่น สารอาหารต่างๆสารที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความเครียด บำรุงสมอง ช่วยในการนอนหลับ ได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

10. สินค้าที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) สวัสดิภาพสัตว์เป็นประเด็นที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปเชื่อว่า การดูแลให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่ดีจะส่งผลให้สินค้าอาหารที่ผลิตได้มีคุณภาพดีตามไปด้วย โดยสินค้าอาหารผลิตจากวัตถุดิบที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์จะต้องผ่านมาตรฐานกรรมวิธีการผลิตขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ตั้งแต่วิธีการเลี้ยงที่ไม่แออัดการขนส่งและการฆ่าที่ไม่ทำให้สัตว์ทรมานหรือเกิดความตื่นตระหนกรวมถึงการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะบางรายการผสมในอาหารสัตว์

จากความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปและวัฏจักรเศรษฐกิจพบว่าผู้บริโภคมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวในการเลือกซื้อสินค้า โดยพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบนอกเหนือจากปัจจัยด้านราคา ประเด็นนี้อาจมองได้ว่าเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสในเวลาเดียวกัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคสินค้าที่ตนเองส่งออกอย่างใกล้ชิด รวมทั้งวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด

อุตสาหกรรมไบโอดีเซล

ไบโอดีเซลเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่ไทยตั้งเป้าหมายพัฒนาอย่างจริงจังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบด้วยแรงหนุนสำคัญจากการที่ไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดยมีกำลังการผลิตปีละ 1.2 ล้านตัน รวมทั้งเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก จากเนื้อที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันราว 2.8 ล้านไร่อีกทั้งยังมีศักยภาพในการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอีกมาก ทดแทนสวนผลไม้และพื้นที่นาร้างในภาคใต้ อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและชุมพร

แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมไบโอดีเซลของไทยเป็นการผลิตเพื่อเน้นใช้ภายในประเทศเป็นหลักด้วยจำนวนผู้ผลิต 14 ราย กำลังการผลิตรวมวันละ 5.9 ล้านลิตร ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังค่อนข้างสูงเนื่องจากมีต้นทุนเพาะปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.25-4.36 บาท เทียบกับผู้ผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันรายสำคัญโดยเฉพาะมาเลเซียซึ่งมีต้นทุนเพาะปลูกเพียงกิโลกรัมละ 3.88 บาท แต่ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบและแรงหนุนสำคัญจากนโยบายรัฐบาล ตลอดจนโอกาสทางการตลาดที่ยังเปิดกว้าง จึงคาดว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้อุตสาหกรรมไบโอดีเซลของไทยมีพัฒนาการจนมีต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับที่แข่งขันได้บนเวทีการค้าไบโอดีเซลโลก สามารถส่งออกไบโอดีเซลเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง

แรงจูงใจสำคัญที่คาดว่าจะเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอดีเซลของไทยเพื่อการส่งออกในอนาคต

1. นโยบายรัฐบาลเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนโยบายด้านการผลิต อาทิ ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ปีละ 500,000 ไร่ตั้งแต่ปี 2551 และตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ 5.45 ล้านไร่ภายในปี 2555 ควบคู่กับการเพิ่มอัตราการให้น้ำมันที่ระดับ 18.5% ของน้ำหนักปาล์มรวม จากปัจจุบันมีอัตราการให้น้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 17% และนโยบายสนับสนุนด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิการเร่งบังคับใช้น้ำมันดีเซล B2* แทนน้ำมันดีเซลทั้งหมดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ล่าสุดบังคับใช้น้ำมันดีเซล B3 แทนน้ำมันดีเซลทั้งหมดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ตามด้วยการบังคับใช้น้ำมันดีเซล B5 ภายในปี 2554 และกำหนดให้เพิ่มเป็นน้ำมันดีเซล B10 ภายในปี 2555

  • ผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลในสัดส่วน 2 : 98

ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 รัฐบาลกำหนดให้ราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซล B5 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไปถึงลิตรละ 1 บาท (จากเดิมลิตรละ 0.50 บาท) นโยบายดังกล่าวล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายกำลังการผลิตจนมีปริมาณการผลิตอยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ซึ่งจะเอื้อต่อการผลิตไบโอดีเซลเพื่อการส่งออกในอนาคต

2. โอกาสทางการตลาดยังเปิดกว้าง ด้วยแรงหนุนสำคัญจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวนและมีแนวโน้มขยับขึ้นอีกเมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันเพิ่มขึ้นตาม คาดว่าทั่วโลกจะมีความต้องการใช้ไบโอดีเซลราว 16 ล้านตันในปี 2553

รายละเอียดที่น่าสนใจของประเทศผู้ใช้ไบโอดีเซลรายใหญ่ของโลก

  • EU คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไบโอดีเซล 11 ล้านตันในปี2553 หรือราว 68% ของความต้องการใช้ไบโอดีเซลโลก ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 30-35 ล้านตันภายในปี 2563 ด้วยแรงกระตุ้นสำคัญจากพันธะผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งกำหนดให้ EU ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 20%ภายในปี 2563 ประกอบกับกระแสตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนของหลายประเทศในกลุ่ม EU ล่าสุด EU กำหนดให้รถยนต์โดยสารของประเทศสมาชิกต้องใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 10%
  • จีน เป็นตลาดไบโอดีเซลเกิดใหม่ที่น่าจับตามองจากความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ทั่วโลกเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของจีนจะขยายตัวในอัตรา 6-8% ในช่วง 10 ปีนับจากนี้

3. ไบโอดีเซลของไทยมีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานไบโอดีเซลโลกเนื่องจากมาตรฐานการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ที่กำหนดโดยกรมธุรกิจพลังงานสอดรับกับมาตรฐานไบโอดีเซลของประเทศผู้นำเข้าไบโอดีเซลรายใหญ่ของโลก อาทิ EU ใช้มาตรฐาน European EN14214 และสหรัฐฯ ใช้มาตรฐาน American Society for Testing Materials(ASTM A6751) ทำให้เอื้อต่อการส่งออกไบโอดีเซลของไทยในระยะถัดไป

ผลกระทบของค่าเงินหยวน

สถานการณ์ : จีนประกาศปล่อยค่าเงินหยวนยืดหยุ่นมากขึ้น

นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China : PRC) ดำเนินนโยบายตรึงค่าเงินหยวนไว้กับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 6.8262 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการส่งออกของประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานเศรษฐกิจของจีนที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งขาดดุลการค้ากับจีนเป็นจำนวนมหาศาลออกมากดดันอย่างหนักให้ทางการจีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด จนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 PRC ประกาศจะปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนและปล่อยให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกำหนดให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวได้ในช่วง +/-0.5% จากค่ากลางที่ PRC ประกาศในแต่ละวันส่งผลให้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เงินหยวนแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปีในตลาดซื้อขายเงินหยวนระหว่างประเทศที่ระดับ 6.7976 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐหรือแข็งค่าขึ้น 0.4% จากระดับปิดตลาดที่ 6.8262 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553

เงินหยวนแข็งค่า : เงินบาทแข็งค่าตาม

เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและนโยบายผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยนข้างต้นอาจส่งผลให้ค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในระยะสั้นซึ่งจะมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนและเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคเอเชีย

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีตพบว่า PRC เคยปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นครั้งใหญ่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2548 จนถึงเดือนกรกฎาคม2551 เป็นระยะเวลารวม 3 ปี ในครั้งนั้นเงินหยวนแข็งค่าแบบค่อยเป็นค่อยไปจาก 8.28 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 6.83 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐหรือแข็งค่าขึ้นราว 21% (คิดเป็นอัตราการแข็งค่าเฉลี่ย 7% ต่อปี)ขณะที่ค่าเงินบาทในช่วงเวลาเดียวกันแข็งค่าขึ้นราว 26% ใกล้เคียงกับการแข็งค่าของเงินหยวน โดยการแข็งค่าขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากเงินทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้ง FDI และการลงทุนในหลักทรัพย์รวมกันสูงถึง 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 3 ปี

เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่า : Domestic Demand ในจีนเพิ่มขึ้น

เงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อและความสามารถในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินหยวน ประกอบกับการที่จีนยังเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องด้วยการอัดฉีดเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตและลงทุนเป็นจำนวนมาก เหตุผลดังกล่าวทำให้การส่งออกของไทยซึ่งปัจจุบันพึ่งพาตลาดจีนมากถึง 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปจีนเป็นอันดับต้นๆ

ดังนั้น การที่เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งทางลบและทางบวก ดังนี้

ผลกระทบทางลบ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตามทิศทางเงินหยวน อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกแต่ละประเภทจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ Import Content ของสินค้าแต่ละประเภท โดยสินค้าที่มี Import Content สูงจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทไม่มากนักเพราะแม้รายรับจากการส่งออกที่อยู่ในรูปเงินบาทจะลดลงตามการแข็งค่าของเงินบาท แต่ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าก็มีแนวโน้มถูกลงเช่นกัน (Natural Hedge) ตรงข้ามกับสินค้าที่มี Import Content ต่ำจะได้รับผลกระทบมากกว่าจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ผลกระทบทางบวก เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ Domestic Demand ของจีนเพิ่มขึ้น ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หากพิจารณาผลกระทบเป็นรายสินค้าพบว่า สินค้าส่งออกแต่ละประเภทของไทยจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายยืดหยุ่นค่าเงินหยวนของจีนแตกต่างกันไป ดังนี้

1. สินค้าที่ได้ประโยชน์ เป็นสินค้าที่มี Import Content สูง ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการที่เงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากการที่ Domestic Demand ของจีนสูงขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนสูง อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

2. สินค้าที่เสียประโยชน์ เป็นสินค้าที่มี Import Content ต่ำทำให้ได้รับผลกระทบมากจากการที่เงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันสินค้าดังกล่าวกลับไม่ได้ประโยชน์จากการที่ Domestic Demand ของจีนสูงขึ้นเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนน้อยหรือไม่ได้ส่งออกไปจีนเลย อาทิ ข้าว ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

3. สินค้าที่ไม่ได้/ไม่เสียประโยชน์ จำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ

  • สินค้าที่มี Import Content สูงและส่งออกไปจีนไม่มากนักเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากมี Import Content สูง แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์จากการที่ Domestic Demand ของจีนสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนไม่มากนัก อาทิ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น
  • สินค้าที่มี Import Content ต่ำและส่งออกไปจีนมาก เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่า เนื่องจากมี Import Content ต่ำ อย่างไรก็ตาม กลับได้รับอานิสงส์จากการที่จีนมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนมาก อาทิ ยางพาราผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า การวิเคราะห์ข้างต้นเป็นการมองจีนในฐานะคู่ค้าของไทย แต่หากพิจารณาจีนในฐานะ “คู่แข่ง” แล้ว เงินหยวนแข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อเงินบาทในทิศทางแข็งค่าเช่นเดียวกัน ดังนั้นในแง่ของการแข่งขันแล้ว อาจต้องพิจารณาว่าในระยะถัดไปเงินสกุลใดจะแข็งค่ามากกว่ากันเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่มีจีนเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดโลกได้แก่ เครื่องดื่ม ไก่แปรรูป ผักและผลไม้ กุ้ง สิ่งทอ เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ กระดาษ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเหล็ก

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เมษายน 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ