เก็บตกจากต่างแดน: การติดต่อธุรกิจในอุซเบกิสถาน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2011 13:54 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ภูมิภาคเอเชียกลางถูกจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น ทั้งในแง่ของแหล่งลงทุนและตลาดส่งออกที่น่าสนใจ เนื่องจากอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ประชากรในภูมิภาคดังกล่าวเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น ทั้งนี้ อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจราว 14% ของภูมิภาคเอเชียกลาง รวมทั้งมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยถึง 8.5% ในช่วงปี 2549-2553 แม้ในช่วงที่ผ่านมาการค้าระหว่างไทยกับอุซเบกิสถานยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 ไทยส่งออกสินค้าไปอุซเบกิสถานเพียง 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.005% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย แต่มีอัตราขยายตัวในระดับสูงที่ 18.2% สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอุซเบกิสถาน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก เหล็ก เคมีภัณฑ์ และตู้เย็น

ปัจจัยที่จะช่วยให้นักธุรกิจไทยประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจกับชาวอุซเบกิสถาน คือ การทำความเข้าใจธรรมเนียมและวัฒนธรรมการติดต่อธุรกิจกับชาวอุซเบกิสถาน ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากจากธรรมเนียมปฏิบัติของชาวไทย ดังนี้

  • ภาษา ภาษาราชการ คือ ภาษาอุซเบค (Uzbek) ซึ่งมีชาวอุซเบกิสถานราว 74% ใช้สื่อสาร รองลงมาเป็นภาษารัสเซีย (Russian) 14% ภาษาทาจิก (Tajik) 4% และภาษาอื่นๆ 8%
  • ศาสนา ราว 88% ของประชากรทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม (ส่วนใหญ่นับถือนิกายซุนนีย์) รองลงมา 9% นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ และ 3% นับถือศาสนาอื่นๆ
  • เชื้อชาติ ราว 80% ของประชากรทั้งหมดเป็นชาวอุซเบค รองลงมา 6% เป็นชาวรัสเซีย 5% เป็นชาวทาจิก 3% เป็นชาวคาซัค และอีก 4% เป็นเชื้อชาติอื่นๆ
  • การทักทาย

-โดยทั่วไปผู้ชายชาวอุซเบกิสถานนิยมกล่าวคำทักทายว่า “Salam” ร่วมกับการจับมือทักทายกัน และหอมแก้มข้างใดข้างหนึ่ง ขณะที่ผู้หญิงนิยมกล่าวคำทักทายดังกล่าวร่วมกับการกอดและหอมแก้มซ้าย

-การเรียกชื่อนิยมเรียกชื่อแรก แต่ควรเรียกคำนำหน้าชื่อด้วยหากเพิ่งรู้จักกันครั้งแรก

  • นามบัตร การแลกเปลี่ยนนามบัตรยังไม่เป็นที่นิยมนักในอุซเบกิสถาน แต่หากนำไปมอบให้คู่เจรจาควรมอบให้ครบทุกคน และมอบด้วยมือขวา
  • การเจรจาทางธุรกิจ

-การนัดประชุมหรือติดต่อเจรจาทางธุรกิจควรส่งจดหมายแนะนำตัวไปก่อน ซึ่งประกอบด้วยชื่อบริษัท ประวัติการดำเนินงาน และวัตถุประสงค์ในการเข้าพบหรือประชุม ทั้งนี้ จดหมายดังกล่าวควรทำทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาอุซเบค เพื่อให้มั่นใจว่าคู่เจรจาเข้าใจความหมายของจดหมายอย่างถูกต้อง

-โครงสร้างสังคมของชาวอุซเบกิสถานค่อนข้างซับซ้อน จึงให้ความสำคัญกับระเบียบขั้นตอนการเข้าประชุม โดยเฉพาะลำดับการแนะนำตัว การเลือกที่นั่ง และการเริ่มสนทนา

-การเจรจามักดำเนินไปอย่างค่อนข้างช้าร่วมกับการจิบน้ำชา รวมถึงหัวข้อการสนทนาอาจไม่สัมพันธ์กันหรือมีการเปลี่ยนหัวข้อสนทนาอย่างรวดเร็ว

-การสนทนาต้องสบตาผู้พูดทุกครั้ง เพราะชาวอุซเบกิสถานมักถือว่าการไม่สบตาคู่สนทนา เป็นการแสดงออกว่ากำลังพูดโกหกหรือไม่มีความจริงใจ

-ชาวอุซเบกิสถานมักใช้เวลาตัดสินใจในการเจรจาธุรกิจค่อนข้างนาน แต่ไม่ควรแสดงกิริยาหรือท่าทางไม่พอใจหรือเร่งรีบให้ตัดสินใจ เนื่องจากถือว่าเป็นการเสียมารยาท จึงควรเตรียมความพร้อมก่อนไปเจรจา และเตรียมทางเลือกสำหรับข้อตกลงไว้หลายแนวทาง

ของขวัญ

-ชาวอุซเบกิสถานนิยมให้ของขวัญในช่วงวันเกิด วันแต่งงาน และวันครบรอบวันสำคัญต่างๆ

-ชาวอุซเบกิสถานไม่ให้ความสำคัญกับราคาของของขวัญ แต่ให้ความสำคัญกับความจริงใจในการมอบให้

-ควรระมัดระวังการให้ของขวัญที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม อาทิ ไม่ควรให้อาหารที่มีส่วนผสมของสุกร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากเป็นไปได้ควรให้อาหารฮาลาล

-ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับของขวัญจากชาวอุซเบกิสถาน ควรปฏิเสธเป็นมารยาทสักสองครั้ง แล้วจึงค่อยรับ รวมถึงไม่ควรแกะห่อของขวัญทันทีที่ได้รับ

งานเลี้ยง

-หากได้รับเชิญไปร่วมรับประทานอาหาร ควรนำดอกไม้หรือขนมซึ่งมีการห่อไว้อย่างดีไปด้วย เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจแก่เจ้าภาพ ในกรณีที่ได้รับเชิญไปที่บ้านควรถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านทุกครั้ง ซึ่งบางบ้านอาจเตรียมรองเท้าแตะไว้ให้สวมภายในบ้าน

-ควรไปก่อนเวลานัดสักครึ่งชั่วโมง รวมถึงสวมใส่เสื้อผ้าลำลองแต่ต้องเรียบร้อย ผู้ชายไม่ควรสวมเนกไท ขณะที่ผู้หญิงไม่ควรสวมใส่ชุดที่เปิดเผยมากนัก

-ควรแนะนำตัวและทักทายกับสมาชิกทุกคนในบ้าน โดยอาจจับมือทักทาย

-ควรรอให้เจ้าภาพเป็นผู้เลือกที่นั่งให้ ทั้งนี้ บนโต๊ะอาหารมักถูกจัดอย่างเป็นทางการ หากไม่แน่ใจว่าจะเริ่มรับประทานอย่างไร ควรทำตามผู้อื่น โดยควรตั้งข้อศอกและมือไว้เหนือโต๊ะตลอดเวลารับประทานอาหาร

-การเสิร์ฟอาหารมักเริ่มจากผู้สูงวัยก่อน ตามด้วยแขก และเด็ก

-ใช้มือขวาทุกครั้งในการตักอาหารหรือขณะส่งอาหารให้ผู้อื่น

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กรกฏาคม 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ