สหราชอาณาจักร* มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหภาพยุโรป (European Union : EU) และเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทยใน EU ด้วยมูลค่าส่งออกราว 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 และมีอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกเฉลี่ยราว 6% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของ EU รองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส ด้วยจำนวนประชากรราว 62 ล้านคน ขณะที่รายได้ต่อหัวสูงถึงราว 35,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี สหราชอาณาจักรจึงเป็นหนึ่งในตลาดที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกรวมทั้งไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การติดต่อธุรกิจกับชาวสหราชอาณาจักรเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จ ผู้ประกอบการไทยควรทราบธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
1. การทักทายและการสนทนา ควรทักทายด้วยการจับมือแบบสากลและสบตาคู่สนทนาตลอดเวลาที่กล่าวคำทักทายกัน และควรกล่าวคำว่า “How do you do?” ซึ่งถือเป็นคำทักทายด้วยภาษาอังกฤษอย่างสุภาพ ทั้งนี้ ในการแนะนำตัวเองควรแนะนำด้วยนามสกุลเท่านั้น และเรียกชื่อคู่สนทนาด้วยนามสกุลซึ่งถือเป็นการให้เกียรติกัน นอกจากคู่สนทนาจะอนุญาตให้เรียกชื่อตัว พร้อมทั้งมอบนามบัตรให้แก่คู่สนทนา (ไม่ควรใส่ตำแหน่งหรือระบุระดับการศึกษาขั้นสูงสุดลงบนนามบัตร ยกเว้นแพทย์หรือนักบวชทางศาสนา)
2. การติดต่อและเจรจาธุรกิจ หากต้องการนัดหมายเพื่อเจรจาธุรกิจกับชาวสหราชอาณาจักร ควรตรวจสอบวันหยุดประจำปีของสหราชอาณาจักร และเวลาทำการของหน่วยงานที่ต้องการติดต่อ และแจ้งให้คู่เจรจาทราบล่วงหน้าถึงกำหนดการนัดหมายอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ พร้อมทั้งยืนยันการนัดหมายเป็นระยะ เมื่อถึงวันนัดหมายควรไปถึงสถานที่นัดหมายตรงเวลา และหากคาดว่าจะไปถึงสถานที่นัดหมายช้ากว่าเวลาที่กำหนดควรแจ้งให้คู่เจรจาทราบ เนื่องจากชาวสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญมากกับการตรงต่อเวลา อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความมีวินัยและความรับผิดชอบ รวมทั้งเป็นการให้เกียรติคู่เจรจา ทั้งนี้ พึงระลึกอยู่เสมอว่าการแสดงความคิดเห็นทางธุรกิจควรกระทำด้วยความสุภาพ เนื่องจากชาวสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญมากกับการรักษาความรู้สึกของคู่เจรจา สำหรับการนำเสนองานควรดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและชัดเจน รวมทั้งมีรายละเอียดครบถ้วนและควรมีข้อมูลสถิติหรือแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ประกอบ เนื่องจากชาวสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่มองว่าการนำเสนองานโดยไม่มีข้อมูลสถิติหรือแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้มักขาดความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพ ซึ่งอาจทำให้ชาวสหราชอาณาจักรขาดความเชื่อมั่นและตัดสินใจไม่ดำเนินธุรกิจด้วย
3. การมอบของขวัญ หากได้รับเชิญไปรับประทานอาหารที่บ้านของคู่เจรจาชาวสหราชอาณาจักร ควรไปถึงตรงเวลาหรือช้ากว่าเวลานัดหมายได้ไม่เกิน 5 นาที หากไปถึงสถานที่นัดหมายช้ากว่าเวลาที่กำหนด ควรแจ้งให้เจ้าของบ้านทราบ และควรเตรียมของขวัญ เช่น ของตกแต่งบ้านชิ้นเล็กๆ หรือหนังสือท่องเที่ยว/ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศของผู้ได้รับเชิญไปมอบแก่เจ้าของบ้านเพื่อแสดงความขอบคุณ ทั้งนี้ หลังจากรับประทานอาหารเสร็จควรช่วยเจ้าของบ้านเก็บกวาดและทำความสะอาดโต๊ะอาหาร รวมถึงภาชนะต่างๆ เพื่อตอบแทนน้ำใจและสร้างความประทับใจให้แก่คู่เจรจา
4. การแต่งกาย ชาวสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญมากกับการแต่งกาย เนื่องจากเป็นการให้เกียรติคู่เจรจาทางธุรกิจ อีกทั้งยังแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้ การแต่งกายเพื่อติดต่อธุรกิจกับชาวสหราชอาณาจักรควรเป็นแบบสากลนิยมและสุภาพ คือ สุภาพบุรุษสวมชุดสูทสีเข้มทับเสื้อเชิ้ตสีอ่อนและผูกเนกไท ขณะที่สุภาพสตรีสวมสูทสีเข้มทับเสื้อเชิ้ตสีอ่อนและกระโปรงยาวคลุมเข่า
5. เกร็ดน่ารู้อื่นๆ อาทิ
- คำนำหน้าชื่อ “Mr” และ “Mrs” ในภาษาอังกฤษแบบสหราชอาณาจักรไม่ต้องมีเครื่องหมายมหัพภาค (.) ต่อท้าย เนื่องจาก “Mr” และ “Mrs” ในภาษาอังกฤษแบบสหราชอาณาจักรถือเป็นคำศัพท์ ไม่ใช่คำย่อ
- การเรียกชื่อชาวสหราชอาณาจักรที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่ต้องใส่คำนำหน้าชื่อ “Mr” หรือ “Mrs” แต่ให้ใช้ลำดับชั้นของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ ตามด้วยชื่อตัวและนามสกุล อาทิ Sir Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร และ Lord Tom Denning อดีตผู้พิพากษาชื่อดังของสหราชอาณาจักร เป็นต้น
- สหราชอาณาจักรประกอบด้วย 4 เขตการปกครอง ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เมษายน 2554--