ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกว่างซีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางตอนใต้ของจีน ในปี 2552 ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องสร้างรายได้รวมสูงถึง 70,100 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของ GDP ของกว่างซี เนื่องจากกว่างซีมีจุดเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามจำนวนมาก โดยเฉพาะกุ้ยหลิน สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ เช่น จ้วง (Zhuang) เย้า (Yao) ม้ง/แม้ว (Miao) และ หุย (Hui) ซึ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนกว่างซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รัฐบาลกว่างซีเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพของธุรกิจท่องเที่ยว จึงประกาศสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวอย่างจริงจังภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกว่างซีฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปี (2554-2558) เพื่อผลักดันให้ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่เกื้อหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจกว่างซีในระยะถัดไป
แผนการสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ของกว่างซี มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
- ผลักดันให้กว่างซีเป็น Hub ด้านการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับอาเซียน โดยอาศัยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของกว่างซีซึ่งเป็นพื้นที่เดียวของจีนที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและมีทางออกสู่ทะเล ทำให้มีเส้นทางทั้งทางบกและทางน้ำหลายเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างจีนและอาเซียน รวมทั้งมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้กว่างซีเป็นหนึ่งในจุดหมายที่นักท่องเที่ยวทั้งจากกลุ่มประเทศอาเซียนและชาวจีนในเมืองใหญ่ต้องแวะมาเยือนก่อนเดินทางต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวปลายทางอื่นๆ เพิ่มเติมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่กว่างซีโดยเฉพาะ ทั้งนี้ Guangxi Tourism Administration ตั้งเป้าว่าในปี 2558 กว่างซีจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกอาเซียนมากกว่า 1 ล้านคนให้เดินทางเข้าประเทศจีนโดยผ่านกว่างซี พร้อมทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางผ่านกว่างซีออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนกว่า 2 ล้านคน
เส้นทางรถไฟ Nanning-Singapore Railway เชื่อมจากหนานหนิงลงมาตามแนวชายฝั่งทะเลของเวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย (เมืองหลวงของเวียดนาม) เข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ (เมืองหลวงของ สปป.ลาว) ผ่านกรุงเทพฯ และกรุงกัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวงของมาเลเซีย) ก่อนไปสิ้นสุดปลายทางที่สิงคโปร์ - เร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง (High-speed Rail) เพื่อเชื่อมโยงกว่างซีเข้ากับเมืองสำคัญในจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟ Nanning-Singapore Railway ที่เชื่อมหนานหนิง เมืองหลวงของกว่างซี ไปยังสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกันให้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลกว่างซีประกาศตั้งงบประมาณลงทุนในโครงการดังกล่าว 15,600 ล้านหยวน (ประมาณ 2,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และจะเริ่มก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างหนานหนิงไป Pingxiang เมืองชายแดนของกว่างซีที่มีพรมแดนติดกับเวียดนามในไตรมาส 2 ปี 2554 รวมทั้งจะเร่งเจรจากับรัฐบาลเวียดนามและประเทศในอาเซียนเพื่อผลักดันโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับปัจจุบัน - เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการตรวจคนเข้าเมือง อาทิ ลดขั้นตอนการผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งจะเริ่มดำเนินนโยบายการให้บริการ Visa on Arrival กับนักท่องเที่ยวจากประเทศในอาเซียน โดยเบื้องต้นจะเริ่มที่ด่านพรมแดนในเมือง Pingxiang และเมือง Dongxing และจะขยายไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองในกุ้ยหลิน - กระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระดับหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น เพื่อร่วมกันบุกเบิกเส้นทางและรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ๆ ระหว่างจีนกับอาเซียนผ่านกว่างซี อาทิ การขับรถยนต์ส่วนตัว (Self-Drive) ข้ามพรมแดนจีน-อาเซียน การล่องเรือระหว่างจีน-เวียดนาม เป็นต้น รวมทั้งมีแผนประชาสัมพันธ์และฟื้นฟูเส้นทางท่องเที่ยวเดิมที่มีศักยภาพ อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างเมือง Fang Cheng Gang City (จีน)-Halong Bay (เวียดนาม) รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างเมือง Bei Hai City (จีน)-Halong Bay การสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวอย่างจริงจังของรัฐบาลกว่างซี ประกอบกับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ China Tourism Association จัดให้กุ้ยหลินเป็น 1 ใน 10 สุดยอดเมืองแห่งการพักผ่อนในจีนในปี 2553 คาดว่าจะเกื้อหนุนให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องในกว่างซีมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ - โรงแรม/รีสอร์ต แม้ว่าปัจจุบันกว่างซีมีโรงแรม/รีสอร์ตราว 500 แห่ง แต่โรงแรม/รีสอร์ตที่มีมาตรฐานการบริการระดับสากลยังมีอยู่จำกัด ไม่เพียงพอกับความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีรายได้สูง จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความชำนาญในธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลกว่างซีคาดว่า ณ สิ้นปี 2558 ความต้องการห้องพักที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กว่างซีมีความต้องการโรงแรมระดับ 5 ดาวเพิ่มขึ้นเป็น 30 แห่งจาก 13 แห่งในปัจจุบัน และโรงแรมระดับ 4 ดาวเพิ่มขึ้นเป็น 110 แห่งจากราว 50 แห่งในปัจจุบัน - ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ อาทิ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ธุรกิจสปา/นวดแผนไทย ธุรกิจบริการนำเที่ยวและโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวตามการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในกว่างซี --ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เมษายน 2554-- -พห-