หากพูดถึงประเทศพม่าซึ่งกำลังได้รับความสนใจในฐานะแหล่งลงทุนแห่งใหม่ของนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลพม่ามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับบรรยากาศทางการเมืองที่เริ่มผ่อนคลายหลังการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2553 นอกจากเมืองย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของพม่าซึ่งเป็นที่รู้จักของนักลงทุนโดยทั่วไปแล้ว เมืองมัณฑะเลย์เป็นอีกเมืองที่มีศักยภาพด้านการลงทุนไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ เมืองมัณฑะเลย์ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่ทำรายได้ให้พม่า โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและพุทธศาสนา ประกอบกับรัฐบาลพม่ามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเมืองมัณฑะเลย์ โดยเฉพาะการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมัณฑะเลย์ในปี 2533 เพื่อให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกื้อหนุนบทบาทของมัณฑะเลย์ให้เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของพม่าตอนกลางและตอนเหนือซึ่งนักลงทุนไม่ควรมองข้าม
ศักยภาพของเมืองมัณฑะเลย์
เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) เป็นเมืองหลวงของเขตมัณฑะเลย์ (Mandalay Division) และเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่ารองจากเมืองย่างกุ้ง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางเหนือราว 620 กิโลเมตร ทั้งนี้ ข้อมูล World Urbanization Prospects (The 2009 Revision) ซึ่งเผยแพร่โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ระบุว่า ในปี 2553 เมืองมัณฑะเลย์มีประชากรจำนวน 1,034,000 คน คิดเป็น 6% ของจำนวนประชากรพม่าทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเมือง สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของจำนวนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากเป็นอันดับ 2 ของพม่ารองจากย่างกุ้ง
นอกจากนี้ เมืองมัณฑะเลย์ยังเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ (Mandalay International Airport) และมีทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างพม่า จีน อินเดีย และไทย จึงทำให้เมืองมัณฑะเลย์เป็นจุดเชื่อมโยงการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังขึ้นชื่อในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและพุทธศาสนาที่สำคัญของพม่า โดยมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ Mandalay Hill ซึ่งเป็นจุดที่สามารถชมทัศนียภาพของเมืองมัณฑะเลย์ได้ทั้งเมือง วัดพระมหามุนี (Muni Buddha Temple) เป็นที่ประดิษฐานของพระมหามุนี ซึ่งมีชาวพม่าเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก เป็นต้น มัณฑะเลย์จึงไม่ได้เป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านการลงทุนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังมีความงดงามทางวัฒนธรรมซึ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย
นโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลพม่าในเมืองมัณฑะเลย์
ในปี 2533 รัฐบาลพม่าได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมัณฑะเลย์ ปัจจุบันมีบริษัทเข้าไปลงทุนประมาณ 1,000 บริษัท ซึ่งการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบในช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ การให้สิทธินักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการได้ทั้งหมด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งมัณฑะเลย์ (Mandalay Region Chamber of Commerce and Industry : MRCCI) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ของภาคธุรกิจเอกชนในเขตมัณฑะเลย์ รวมทั้งให้บริการในด้านต่างๆ อาทิ การฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การให้บริการข้อมูลการค้าการลงทุน การให้บริการด้านคำปรึกษา การจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในมัณฑะเลย์มากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในมัณฑะเลย์คิดเป็นสัดส่วนถึง 11% ของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดในพม่า
โอกาสและศักยภาพการลงทุนในเมืองมัณฑะเลย์
เมืองมัณฑะเลย์มีข้อได้เปรียบจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับยังมีพื้นที่ว่างสำหรับทำการเกษตรอีกมาก ทำให้โครงการลงทุนส่วนใหญ่ในมัณฑะเลย์เป็นโครงการลงทุนในภาคเกษตรกรรม โดยพืชที่เพาะปลูกมากในมัณฑะเลย์ ได้แก่ ถั่วชนิดต่างๆ (โดยเฉพาะถั่วลิสง) และมะม่วง เป็นต้น นอกจากนี้ มัณฑะเลย์ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ โรงงานผลิตกระดาษ ถ่านไฟฉาย แป้งข้าวเจ้า สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังขาดแคลนเทคโนโลยีและเครื่องจักรขั้นสูงในการผลิต ประกอบกับปัญหาการปิดชายแดนระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต นับเป็นโอกาสของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยในการเข้าไปร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น เพื่อตั้งโรงงานผลิตวัตถุดิบ อาทิ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เพื่อทดแทนการนำเข้า พร้อมกับนำเทคโนโลยีและ Know How ต่างๆ เข้าไปเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
นอกจากนี้ เมืองมัณฑะเลย์ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ถนน ระบบไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโอกาสการลงทุนสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ธุรกิจโรงไฟฟ้าและสายส่งกระแสไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงโอกาสในการขยายการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคในมัณฑะเลย์ก็ยังมีอยู่มาก เนื่องจากชาวมัณฑะเลย์มีกำลังซื้อสูง ประกอบกับสินค้าไทยได้รับความนิยมมากเนื่องจากถือเป็นสินค้าคุณภาพดี
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มิถุนายน 2554--