จับตาตลาดอาเซียน+6: ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 3, 2011 15:49 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ข้อมูลที่น่าสนใจ

จำนวนผู้บริโภค : 22.2 ล้านคน

รายได้เฉลี่ยต่อหัว : 55,510 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

มูลค่านำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ: 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ทำไมตลาดออสเตรเลียจึงน่าสนใจ

1. ตลาดมีกำลังซื้อสูง โดยรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (GDP per capita) ของชาวออสเตรเลียสูงถึง 55,510 ดอลลาร์สหรัฐ ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย

รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (GDP per capita) ของประเทศต่างๆ ปี 2553

          ประเทศ                      รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (ดอลลาร์สหรัฐ)
          ออสเตรเลีย                              55,510
          สหรัฐอเมริกา                             47,360
          ญี่ปุ่น                                    43,067
          เยอรมนี                                 39,992
          สหราชอาณาจักร                           36,118

ที่มา : Economist Intelligence Unit (EIU)

2. มูลค่านำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของออสเตรเลียสูงกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แม้ออสเตรเลียมีวัตถุดิบอัญมณี อาทิ ทองคำ เพชร และไข่มุก แต่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในรูปของวัตถุดิบ ส่งผลให้ออสเตรเลียมีการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อในประเทศ นอกจากนี้ ต้นทุนค่าจ้างแรงงานในออสเตรเลียที่ค่อนข้างสูงทำให้อัญมณีและเครื่องประดับนำเข้าซึ่งมีราคาถูกกว่าที่ผลิตในประเทศได้รับความนิยม

3. ยอดจำหน่ายเครื่องประดับในออสเตรเลียมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ายอดจำหน่ายเครื่องประดับเทียมในออสเตรเลียจะขยายตัว 2.5% ในปี 2554 ขณะที่คาดว่ายอดจำหน่ายเครื่องประดับแท้จะขยายตัว 1%

                                   อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ
                                      หน่วย: ร้อยละ
          ปี          2553          2554f          2555 f          2556 f          2557 f
                      2.7            2.4             3.2             3.3             3.3
          หมายเหตุ : f ตัวเลขคาดการณ์
          ที่มา : Economist Intelligence Unit (EIU)
          คาดการณ์ยอดจำหน่ายเครื่องประดับในออสเตรเลีย
          ประเภท                        ยอดจำหน่าย (ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย)
                                2553         2554 f        2555 f        2556 f         2557 f
          เครื่องประดับเทียม       162.4          166.5         169.9         175.3          179.6
          %?                     1.2            2.5           2.0           3.2            2.5
          เครื่องประดับแท้       1,078.9        1,090.0       1,105.6       1,124.8        1,146.7
          %?                     0.9            1.0           1.4           1.7            1.9
          รวม                1,241.3        1,256.5       1,275.5       1,300.1        1,326.3
          หมายเหตุ: f ตัวเลขคาดการณ์
          ที่มา : Euromonitor

โครงสร้างการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับในออสเตรเลีย : 70% เป็นอัญมณีและเครื่องประดับแท้

1. อัญมณีและเครื่องประดับที่ออสเตรเลียนำเข้าราว 70% เป็นอัญมณีและเครื่องประดับแท้ ที่เหลืออีก 30% เป็นการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเทียม

2. เกือบ 50% ของมูลค่านำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับแท้ของออสเตรเลียเป็นการนำเข้าเครื่องประดับทอง รองลงมา คือ เพชร และเครื่องประดับเงิน

3. ออสเตรเลียนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากฮ่องกงมากที่สุด (ครองส่วนแบ่งตลาด 21.7% ของมูลค่านำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดของออสเตรเลีย) รองลงมา คือ สหรัฐฯ (12.9%) ไทย (11.6%) นิวซีแลนด์ (11.1%) และอินเดีย (11.0%)

                           มูลค่านำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของออสเตรเลียปี 2552
          ประเภทของอัญมณีและเครื่องประดับแท้         มูลค่านำเข้า(ล้าน US $)       สัดส่วน (ร้อยละ)
          เครื่องประดับทอง                              451.3                    46.9
          เพชร                                       217.3                    22.6
          เครื่องประดับเงิน                              129.5                    13.5
          อื่นๆ                                        163.5                    17.0
          รวม                                        961.6                   100.0

พฤติกรรมผู้ซื้อในออสเตรเลีย : ความคุ้มค่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อของกลุ่มผู้ซื้อหลัก

 รายการ                                        ลักษณะ
 ----------------------------------------------------------------------------------------------------------
 กลุ่มผู้ซื้อ                       ประชากรในออสเตรเลียประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ ส่งผลให้ความต้องการอัญมณีและ
                              เครื่องประดับค่อนข้างหลากหลาย ทั้งนี้ กลุ่มผู้ซื้อในออสเตรเลียแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
                              1.  กลุ่มผู้ซื้อในตลาดระดับบน (ราว 5-10% ของจำนวนผู้ซื้อในออสเตรเลีย) เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีรายได้สูง
                                  ทำให้นิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับแบรนด์เนมชั้นนำของโลก อาทิ Cartier และ
                                  Tiffany & Co. รวมทั้งแบรนด์เนมชั้นนำของออสเตรเลีย อาทิ Parspaley
                              2.  กลุ่มผู้ซื้อในตลาดระดับกลาง (ราว 80-90%) เป็นประชากรส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย
                                  กลุ่มนี้รวมถึงชาวต่างชาติบางส่วนที่เข้าไปทำงานในออสเตรเลีย ผู้ซื้อกลุ่มนี้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย
                                  และความคุ้มค่าของอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสำคัญ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าแบรนด์เนม
                              3.  กลุ่มผู้ซื้อในตลาดระดับล่าง (ราว 5-10%) เป็นกลุ่มชาวพื้นเมือง และชาวต่างชาติส่วนใหญ่
                                  ที่เข้าไปทำงานในออสเตรเลีย อาทิ กลุ่มคนเอเชีย ผู้ซื้อกลุ่มนี้นิยมอัญมณีและเครื่องประดับสำหรับ
                                  ใช้เพื่อความสวยงาม และสามารถเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ ส่งผลให้เครื่องประดับทองที่มีปริมาณเนื้อทอง
                                  ค่อนข้างสูงได้รับความนิยม อาทิ เครื่องประดับทอง 22K
 ----------------------------------------------------------------------------------------------------------
 รสนิยม                        รสนิยมในการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของชาวออสเตรเลียมีความคล้ายคลึงกับชาวตะวันตก
                              อาทิ สหรัฐฯ และยุโรป ทั้งนี้ อัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมในออสเตรเลีย เช่น
                              1.  เครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง 9K เป็นเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก
                              2.  เครื่องประดับทอง 18K ส่วนใหญ่เป็นแหวนแต่งงาน
                              3.  เพชร เป็นอัญมณีและเครื่องประดับที่ใช้เป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด และวันครบรอบ
                                  วันแต่งงาน โดยขนาดเพชรที่นิยม คือ ? ถึง 1 กะรัต
                              4.  เครื่องประดับเทียม เน้นราคาถูก มีรูปแบบหลากหลาย และทันสมัยตามแฟชั่น
 ----------------------------------------------------------------------------------------------------------
 ประเภทของเครื่องประดับที่จำหน่าย   เครื่องประดับที่จำหน่ายในออสเตรเลียแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่
                              1. แหวน (60% ของมูลค่าตลาดรวม)
                              2. ต่างหู (20%)
                              3. สร้อยคอ (18%) และ
                              4. สร้อย/กำไลข้อมือ (2%)
 ----------------------------------------------------------------------------------------------------------
 ปัจจัยที่มีผลในการตัดสินใจซื้อ        คุณภาพ ราคา และความคุ้มค่าเป็น 3 ปัจจัยแรกที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมา คือ การโฆษณา การบอกต่อหรือการแนะนำของเพื่อนหรือคนรู้จัก และการรับประกันสินค้า

ช่องทางการจัดจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญในออสเตรเลีย

อัญมณีและเครื่องประดับนำเข้า

ผู้นำเข้า/ตัวแทนผู้นำเข้า

ห้างสรรพสินค้า (Department Stores)

เน้นจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับระดับปานกลางถึงระดับบน เช่น

          ?          Queen Victoria Bldg
          ?          Myers
          ?          David Jones
          ?          Galleria

ดิสเคานต์สโตร์ (Discount Stores)

เน้นจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับราคาถูก ส่วนใหญ่เป็นอัญมณีและเครื่องประดับเทียม ซึ่งมีราคาไม่เกิน 100 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เช่น

          ?          Big W
          ?          K Mart
          ?          Target

ร้านจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะ(Jewelry Stores)

เน้นจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับระดับบน ส่วนใหญ่เป็นการออกแบบและผลิตเอง เช่น

          ?          House of Cerrone และ Tiffany & Co. เน้นจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับระดับกลางถึงระดับบน เช่น
          ?          JR Farren Price, Angus & Coote และ Prouds เน้นจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับราคาถูก เช่น
          ?          Kleins

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

โอกาสของอัญมณีและเครื่องประดับไทยในออสเตรเลีย : มีทั้งเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง

เนื่องจากศักยภาพในการผลิต และแต้มต่อด้านภาษีเหนือคู่แข่ง

1. ไทยมีศักยภาพในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากช่างไทยมีทักษะและฝีมือประณีต ทำให้อัญมณีและเครื่องประดับไทยมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยเฉพาะเครื่องประดับแท้ สังเกตได้จากการที่ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินและทองรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 9 ของโลก ตามลำดับ สอดคล้องกับความต้องการนำเข้าของออสเตรเลียที่นำเข้าเครื่องประดับแท้สูงถึง 64% ของมูลค่านำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด ทำให้ไทยมีโอกาสขยายการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในออสเตรเลีย

2. อัตราภาษีนำเข้าเครื่องประดับของออสเตรเลียที่ลดลงตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) และเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area) ทำให้ไทยมีแต้มต่อทางภาษีเหนือประเทศคู่แข่งที่มิใช่สมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอินเดีย จีน อิตาลี และฮ่องกง ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย โดยออสเตรเลียเรียกเก็บภาษีนำเข้าเครื่องประดับแท้และเครื่องประดับเทียมจากไทยลดลงเหลือ 0% ในปัจจุบัน ขณะที่เรียกเก็บจากประเทศอื่น นอกเหนือจากไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนที่ 5%

          อัตราภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับภายใต้ข้อตกลง TAFTA และ AANZFTA ปี 2553
          สินค้า                    อัตราภาษีนำเข้า (ร้อยละ)
                              TAFTA1/   AANZFTA2/    MFN3/
          อัญมณีแท้                0          0          0
          อัญมณีเทียม              0          0          0
          เครื่องประดับแท้          0          0          5
          เครื่องประดับเทียม        0          0          5
          หมายเหตุ: 1/ เขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA)
                   2/ เขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area)
                   3/ อัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (Most-Favored-Nation: MFN)
          ที่มา: www.thaifta.com

การแข่งขันของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในออสเตรเลีย : ไทยครองอันดับ 1 ในตลาดเครื่องประดับแท้

คู่แข่งสำคัญในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในออสเตรเลีย

1. ฮ่องกง อินเดีย และอิตาลี เป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับแท้สำคัญของออสเตรเลีย นอกเหนือจากไทย ทั้งเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน โดยในตลาดระดับกลางถึงบน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย ผู้เล่นรายใหญ่ คือ ฮ่องกง ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากฝีมือด้านการออกแบบเทียบเท่าผู้ผลิตในยุโรป และอินเดีย ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านแรงงาน วัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ช่วยในกระบวนการผลิตและออกแบบ ขณะที่อิตาลีเป็นผู้เล่นหลักในตลาดระดับบน เพราะมีความโดดเด่นในการผลิตเครื่องประดับคุณภาพสูง และมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางแฟชั่นและรูปแบบของเครื่องประดับ อีกทั้งยังมีตราสินค้าของตนเอง อย่างไรก็ตาม จากแต้มต่อทางภาษีของไทยตามข้อตกลง TAFTA และข้อตกลง AANZFTA ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตเครื่องประดับแท้ ส่งผลให้ไทยเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับแท้รายใหญ่อันดับ 1 ของออสเตรเลีย ด้วยส่วนแบ่งตลาด 25% ของมูลค่านำเข้าเครื่องประดับแท้ทั้งหมด

2. จีน และฮ่องกงเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับเทียมสำคัญอันดับ 1 และ 2 ของออสเตรเลียตามลำดับ ด้วยสัดส่วนรวมกันกว่า 40% ของมูลค่านำเข้าเครื่องประดับเทียมทั้งหมดของออสเตรเลีย โดยจีนได้ประโยชน์จากต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ และตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตเครื่องประดับเทียมของจีนลดลง ส่งผลให้จีนได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับเทียมรายใหญ่อันดับ 5 ของออสเตรเลีย ด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 5.2% ของมูลค่านำเข้าเครื่องประดับเทียมทั้งหมด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มิถุนายน 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ