เก็บตกจากต่างแดน: การติดต่อธุรกิจในฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2011 15:35 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 5 ของไทย รองจากสหภาพยุโรป (European Union : EU) จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่าส่งออกเฉลี่ยสูงกว่า 10,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วงปี 2550-2553 โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากการที่ชาวฮ่องกงมีกำลังซื้อสูง ด้วยรายได้เฉลี่ยถึง 31,740 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี อีกทั้งฮ่องกงยังมีความโดดเด่นจากการเป็นศูนย์กลางการค้าและกระจายสินค้าสำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยนำเข้าสินค้าส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม ทั้งประเทศในเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากฮ่องกงไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า และยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ นักธุรกิจไทยจึงควรเรียนรู้วัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติเบื้องต้นก่อนเดินทางไปติดต่อธุรกิจในประเทศฮ่องกง ดังนี้

ภาษาที่ใช้ในการเจรจาธุรกิจ ฮ่องกงใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนกวางตุ้งเป็นภาษาราชการ แต่ในการติดต่อธุรกิจชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะชาวฮ่องกงรุ่นหนุ่มสาว สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี

การทักทายและการเรียกชื่อ ควรทักทายด้วยการจับมือแบบสากลพร้อมทั้งโค้งคำนับเล็กน้อยเพื่อแสดงถึงความนับถือ โดยควรทักทายผู้มีอาวุโส/ตำแหน่งสูงสุดเป็นลำดับแรก สำหรับการเรียกชื่อคู่สนทนานิยมใช้คำนำหน้าชื่อและตามด้วยนามสกุล ไม่ควรเรียกชื่อต้นจนกว่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

การนัดหมาย หากต้องการนัดหมายเพื่อเจรจาธุรกิจกับชาวฮ่องกง ควรนัดหมายล่วงหน้าก่อนเดินทางมาที่ฮ่องกง พร้อมทั้งยืนยันการนัดหมายเป็นระยะ และเมื่อถึงวันนัดหมายควรไปถึงสถานที่นัดหมายตรงเวลา เนื่องจากชาวฮ่องกงให้ความสำคัญมากกับการตรงต่อเวลา นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนัดหมายในช่วงเทศกาลตรุษจีน (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) เนื่องจากบริษัทในฮ่องกงมักปิดทำการหลายวันในช่วงนี้ ทั้งนี้ เวลาเปิดทำการของหน่วยงานต่างๆ มีดังนี้

  • สำนักงานทั่วไป เปิดทำการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น. และวันเสาร์ เวลา 9.00-13.00 น.
  • ธนาคาร เปิดทำการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00-16.30 น. และวันเสาร์ เวลา 9.00-12.30 น.
  • ร้านค้า เปิดทำการทุกวัน เวลา 10.00-19.00 น.

การแต่งกาย ในการติดต่อธุรกิจกับชาวฮ่องกงควรแต่งกายสุภาพเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่ติดต่อด้วยและสร้างความประทับใจในการพบปะกันครั้งแรก สำหรับสุภาพบุรุษควรสวมสูทสีเข้มและผูกเนกไท ขณะที่สุภาพสตรีควรสวมชุดสูทสีเข้มและกระโปรงยาวคลุมเข่า จะเหมาะสมกว่าการสวมชุดสูทแบบกางเกง

การแลกเปลี่ยนนามบัตร เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการทำธุรกิจในฮ่องกง เนื่องจากผู้ประกอบการชาวฮ่องกงนิยมแลกเปลี่ยนนามบัตร ผู้ติดต่อธุรกิจกับชาวฮ่องกงจึงควรพกนามบัตรจำนวนมากติดตัวไว้เสมอ และการแลกนามบัตรควรใช้มือทั้ง 2 ข้างยื่นหรือรับนามบัตรกับคู่เจรจา และเพื่อเป็นการให้เกียรติ ไม่ควรรีบเก็บนามบัตรเข้ากระเป๋าเร็วเกินไป รวมทั้งไม่ควรขีดเขียนบนนามบัตรที่ได้รับจากคู่เจรจา สำหรับรายละเอียดในนามบัตร ควรพิมพ์ด้านหนึ่งของนามบัตรเป็นภาษาอังกฤษและอีกด้านหนึ่งเป็นภาษาจีน และควรยื่นนามบัตรด้านที่พิมพ์เป็นภาษาจีนแก่คู่เจรจา

การเจรจาธุรกิจ ชาวฮ่องกงมักสร้างความคุ้นเคยก่อนการเจรจาธุรกิจในครั้งแรก อาทิ การซักถามเรื่องทั่วไปหรือเรื่องเกี่ยวกับประเทศของคู่เจรจา ทั้งนี้ หลังจากการเจรจาต่อรองแล้ว อาจใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการตัดสินใจ เนื่องจากต้องนำเสนอต่อผู้มีตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้ตัดสินใจต่อไป แต่การตัดสินใจจะค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับการติดต่อธุรกิจกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

งานเลี้ยงรับประทานอาหาร ตามธรรมเนียมปฏิบัติลำดับที่นั่งในงานเลี้ยงรับประทานอาหารขึ้นอยู่กับอาวุโส/ตำแหน่ง โดยผู้ได้รับเชิญที่อาวุโส/ตำแหน่งสูงสุดนั่งตรงข้ามกับเจ้าภาพ และอยู่ไกลจากทางเข้ามากที่สุด ผู้ที่มีอาวุโส/ตำแหน่งรองลงมาอันดับ 2 และอันดับ 3 จะนั่งในตำแหน่งถัดมาทางซ้ายและขวาของผู้ที่มีอาวุโส/ตำแหน่งสูงสุดตามลำดับ

การมอบของขวัญ ของขวัญที่ควรนำไปมอบให้กับคู่เจรจา อาทิ สินค้าหัตถกรรม หรือหนังสือท่องเที่ยว/ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศของผู้ได้รับเชิญ โดยของขวัญที่มอบให้ควรเป็นจำนวนคู่ (ยกเว้น 4) เนื่องจากชาวฮ่องกงถือว่าเลขคี่และเลข 4 เป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้าย ขณะที่เลข 8 เป็นเลขนำโชค และของขวัญที่นำไปมอบควรห่อกระดาษให้เรียบร้อย ซึ่งกระดาษที่ใช้ห่อของขวัญควรเป็นสีทอง สีแดง สีชมพูหรือสีเหลือง เพราะชาวฮ่องกงเชื่อว่าเป็นสีนำโชค และควรหลีกเลี่ยงสีขาว สีน้ำเงิน หรือสีดำซึ่งสื่อถึงงานศพ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมอบของขวัญบางประเภท อาทิ นาฬิกา ของแหลมคม และวัตถุที่มีสีดำ

อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่าชาวฮ่องกงนิยมมอบของขวัญตอบแทนเช่นกัน จึงไม่ควรมอบของขวัญที่มีมูลค่าสูงเกินไป เพราะอาจสร้างความลำบากใจให้แก่ผู้รับที่ต้องหาของขวัญตอบแทน และเมื่อได้รับของขวัญจากชาวฮ่องกง ไม่ควรแกะห่อของขวัญต่อหน้าผู้ให้

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ