รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: โอกาสของนักลงทุนไทยในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องในพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2011 15:40 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

นับตั้งแต่พม่าเริ่มเปิดประเทศในปี 2531 ประกอบกับบรรยากาศทางการเมืองที่ผ่อนคลายลงหลังการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบ 20 ปีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ส่งผลให้เศรษฐกิจพม่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) คาดว่าเศรษฐกิจพม่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.5% ต่อปีในช่วงปี 2554-2555 เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่ามากขึ้น

ในบรรดาธุรกิจที่มีศักยภาพในพม่า นอกเหนือจากธุรกิจพลังงานแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุน เนื่องจากพม่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม อาทิ เจดีย์ชเวดากอง ซึ่งถือเป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองและมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพม่า เมืองพุกามซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งทะเลเจดีย์ เนื่องจากมีเจดีย์นับหมื่นองค์ หาดงาปาลี (Ngapali Beach) ในเมือง Thandwe ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหาดที่สวยงามที่สุดของพม่า เป็นต้น ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลพม่า ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาพม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โรงแรมและที่พักระดับดียังมีไม่มาก ทำให้การลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องในพม่าเป็นธุรกิจที่นักลงทุนไทยไม่ควรมองข้าม

ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องในพม่า

-จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาพม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวของพม่าฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก และพายุนาร์กิสพัดเข้าถล่มพม่าเมื่อปี 2551 โดยเฉพาะในปี 2553 ถือเป็นปีทองของภาคการท่องเที่ยวของพม่าอย่างแท้จริง เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาพม่าถึง 295,174 คน (ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวไทยมากที่สุดด้วยสัดส่วน 24% รองลงมาเป็นนักท่องเที่ยวจีน 11%) เพิ่มขึ้น 29.8% จากปี 2552 นับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association : PATA) นอกจากนี้ นิตยสาร Wanderlust ของสหราชอาณาจักรได้จัดให้พม่าเป็น “Top Emerging Destination” และ นิตยสาร Luxury Travel ระบุว่า พม่าเป็นประเทศที่เปิดกว้างสำหรับการท่องเที่ยว (Wide Open for Tourism) ในปี 2554 ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาพม่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาพม่าในไตรมาสแรกปี 2554 ขยายตัว 24% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

-รัฐบาลพม่าเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการท่องเที่ยว อาทิ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ณ กรุงเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2555 การเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างเมืองย่างกุ้งกับสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และดูไบ และเตรียมเพิ่มเที่ยวบินตรงไปเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ การจัดตั้งเขตโรงแรม (Hotel Zone) ในหลายเมือง ได้แก่ Dakina, Oktarathiri และ Pokebathiri ในกรุงเนย์ปิดอว์ และเมืองพุกาม รวมถึงมีแผนจะจัดตั้งเขตโรงแรมที่เมืองย่างกุ้ง เป็นต้น

-รัฐบาลพม่ามีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ การสนับสนุน Travel/Trade Familiarization Trips (FAM Trip) ซึ่งเป็นแพ็กเกจทัวร์ในหลายเมืองของพม่าในราคาประหยัด การให้บริการวีซา (Visa) ปลายทาง (Visa-on-arrival) ตั้งแต่ปี 2553 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ายังอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวจีนข้ามชายแดนเข้าพม่าได้โดยไม่ต้องขอวีซา การส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวโดยมีการจัดอบรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

-รัฐบาลพม่าร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน อาทิ การสนับสนุนให้ประเทศในกลุ่ม ACMECS ใช้วีซาร่วมกันภายใต้โครงการ 5 ประเทศ-1 จุดหมาย (5 Countries-1 Destination) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเส้นทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) เส้นทางเศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) และเส้นทางเศรษฐกิจแนวใต้ (South Economic Corridor : SEC) เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมและการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค

ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในพม่า

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาพม่าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลพม่าในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ล้วนเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงโอกาสการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องในพม่า โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจโรงแรมและที่พักระดับดี รวมถึง Boutique Hotel ซึ่งนักลงทุนไทยมีความชำนาญ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มเดินทางเข้าไปในพม่ามากขึ้น ปัจจุบันพม่ามีห้องพัก 23,435 ห้อง จากโรงแรมและที่พัก 691 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และพุกาม อย่างไรก็ตาม พม่ายังขาดโรงแรมที่มีคุณภาพดีและให้บริการครบวงจร เช่น สปา ฟิตเนส และร้านขายสินค้าที่ระลึก เป็นต้น ทำให้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (พฤศจิกายน-มีนาคม) ห้องพักในโรงแรมที่ได้มาตรฐานจะถูกจองจนเต็มและไม่เพียงพอต่อความต้องการ (ปัจจุบันโรงแรมระดับ 4-5 ดาวมีจำนวนมากที่สุดในเมืองย่างกุ้ง แต่ก็มีเพียง 15 แห่ง) นอกจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องแล้ว ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ก็เป็นธุรกิจที่นักลงทุนไทยมีศักยภาพ รวมถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของผู้ประกอบการไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวก็ยังมีอีกมาก

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ