ธรรมเนียมติดต่อธุรกิจ(ไต้หวัน)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 7, 2011 14:25 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ไต้หวันจัดเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจ แม้จะมีจำนวนประชากรเพียง 23 ล้านคน (ประเทศไทยมี 66 ล้านคน) แต่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงถึง 16,370 ดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่าประเทศไทยถึง 3 เท่าตัว ปัจจุบันไต้หวันเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 18 ของไทยด้วยมูลค่าส่งออกปีละกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพื่อให้การติดต่อธุรกิจกับชาวไต้หวันราบรื่นและประสบความสำเร็จนอกเหนือจากการศึกษากฎระเบียบทางการค้าและการลงทุน ระบบการชำระเงิน และพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไต้หวันแล้ว การเรียนรู้ถึงธรรมเนียมปฏิบัติในการติดต่อธุรกิจกับชาวไต้หวันนับเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง

รายละเอียดที่น่าสนใจของธรรมเนียมปฏิบัติในการเริ่มต้นติดต่อธุรกิจกับชาวไต้หวัน

1. การนัดหมาย ชาวไต้หวันเป็นผู้ที่ตรงต่อเวลามาก จึงไม่ควรไปสายกว่าเวลานัดหมาย นอกจากนี้ควรนัดหมายล่วงหน้าและเลือกนัดหมายในช่วงเวลาเปิดทำการของธุรกิจ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการนัดหมายในช่วงวันหยุดสำคัญ

เวลาเปิดทำการของหน่วยงานต่างๆ มีดังนี้

          หน่วยราชการ                         เปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-17.30 น.
          ธนาคาร                             เปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-15.30 น.
          สำนักงานทั่วไป                        เปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-17.30 น.

ร้านอาหารห้างสรรพสินค้า และร้านค้าทั่วไป เปิดทำการทุกวันเวลา 11.00-22.00 น.

สำหรับวันหยุด นอกจากวันหยุดราชการตามสากลนิยม อาทิ วันขึ้นปีใหม่และวันแรงงาน ไต้หวันยังมีวันหยุดตามประเพณี อาทิ วันตรุษจีน วันไหว้บรรพบุรุษ วันงานแข่งเรือมังกรและไหว้ขนมจ้าง (Dragon Boat Festival) และวันไหว้พระจันทร์ ทั้งนี้ วันหยุดตามประเพณีจะยึดวันที่ตามปฏิทินจันทรคติ

2. การแต่งกาย ในการติดต่อธุรกิจกับชาวไต้หวันควรแต่งกายสุภาพ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่ติดต่อด้วยและสร้างความประทับใจในการพบปะกันครั้งแรก สำหรับผู้ชายควรสวมสูทและผูกเนกไท ส่วนผู้หญิงควรสวมชุดสูทเช่นกัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากอากาศที่ไต้หวันค่อนข้างร้อนชื้นตลอดทั้งปี จึงควรเลือกเครื่องแต่งกายที่เนื้อผ้าค่อนข้างบาง หากเป็นการพบปะอย่างไม่เป็นทางการ นักธุรกิจชาวไต้หวันมักสวมเพียงเสื้อเชิ้ตแขนสั้นและผูกเนกไท ส่วนเสื้อสูทจะสวมเฉพาะช่วงที่อากาศเย็น

3. การทักทาย เมื่อพบปะกับชาวไต้หวันควรทักทายด้วยการจับมือ โดยเริ่มต้นทักทายจากผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดก่อน หากเป็นการจับมือระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ควรรอให้ฝ่ายหญิงยื่นมือมาก่อน

4. การแลกเปลี่ยนนามบัตร เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการทำธุรกิจในไต้หวัน เนื่องจากผู้ประกอบการชาวไต้หวันนิยมแลกเปลี่ยนนามบัตร ผู้ติดต่อธุรกิจกับชาวไต้หวันจึงควรพกนามบัตรจำนวนมากติดตัวเสมอทั้งนี้ การแลกนามบัตรควรใช้มือทั้ง 2 ข้างยื่นหรือรับนามบัตรกับอีกฝ่ายหนึ่ง พร้อมก้มตัวลงเล็กน้อยเพื่อแสดงความสุภาพและนอบน้อมสำหรับรายละเอียดในนามบัตรควรเป็นภาษาจีนหรือด้านหน้าเป็นภาษาไทย/ภาษาอังกฤษและอีกด้านหนึ่งเป็นภาษาจีน ตัวอักษรจีนบนนามบัตรควรเป็นตัวอักษรจีนแบบดั้งเดิม (Traditional Chinese) ตามความนิยมของชาวไต้หวัน

5. การมอบและรับของขวัญ ของขวัญเป็นสิ่งที่ช่วยผูกมิตรกับคู่เจรจาชาวไต้หวัน โดยนิยมมอบของขวัญหลังการเจรจาเสร็จสิ้นแล้วของขวัญที่มอบให้ควรเป็นจำนวนคู่ ยกเว้น 4 เนื่องจากชาวไต้หวันถือว่าเลขคี่และเลข 4 เป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้าย ขณะที่เลข 8 เป็นเลขนำโชค ส่วนกระดาษที่ใช้ห่อของขวัญควรเป็นสีแดง ชมพู หรือเหลือง ซึ่งชาวไต้หวันเชื่อว่าเป็นสีนำโชค ควรหลีกเลี่ยงสีขาว น้ำเงิน หรือดำ ซึ่งสื่อถึงงานศพ

อย่างไรก็ตามพึงตระหนักว่าชาวไต้หวันนิยมมอบของขวัญตอบแทนเช่นกัน จึงไม่ควรมอบของขวัญที่มีมูลค่าสูงเกินไป เพราะอาจสร้างความลำบากใจให้แก่ผู้รับที่ต้องหาของขวัญตอบแทน นอกจากนี้เมื่อได้รับของขวัญจากชาวไต้หวันไม่ควรแกะห่อของขวัญต่อหน้าผู้ให้

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ