บังกลาเทศเป็นประเทศที่น่าลงทุนสำหรับนักลงทุนไทย เนื่องจากไทยและบังกลาเทศมีความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC ) ขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี รวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการได้ในอุตสาหกรรมและบริการเกือบทุกประเภท
นอกจากนี้ บังกลาเทศเป็นตลาดส่งออกที่ไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นได้อย่างมากด้วยจำนวนประชากรสูงถึง 156 ล้านคน มูลค่าส่งออกสินค้าจากไทยไปบังกลาเทศยังถือว่าค่อนข้างน้อย โดยมีมูลค่าเพียงปีละ 500-600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่น่าสังเกตว่า การส่งออกจากไทยไปบังกลาเทศขยายตัวเฉลี่ยถึง 17% ในช่วงปี 2546-2551 และยังคงขยายตัว 8.2% ในปี 2552 สวนทางกับมูลค่าส่งออกของไทยโดยรวมที่หดตัว 14.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน บังกลาเทศจึงเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง
เกร็ดน่ารู้สำคัญที่นักลงทุนไทยควรทราบเกี่ยวกับธรรมเนียมและวัฒนธรรมของบังกลาเทศ
1. เกร็ดทั่วไป
- ภาษา บังกลาเทศใช้ภาษาบังกลา (Bangla) เป็นภาษาราชการและภาษาหลักที่ชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่ใช้สื่อสารระหว่างกัน ภาษาบังกลามีรูปแบบอักษรของตนเอง โดยดัดแปลงมาจากภาษาสันสกฤต สำหรับภาษาอังกฤษมักใช้ในกลุ่มผู้ที่มีการศึกษาดีและใช้ในการติดต่อธุรกิจทั้งนี้ คำทักทายในภาษาบังกลาที่ควรรู้จักได้แก่ Asalamu Alaikum (Peace be unto you) และ Khoda Hafez (God Bless you) ซึ่งเป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม
- ศาสนา ราว 83% ของชาวบังกลาเทศนับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่ราว 16% นับถือศาสนาฮินดู ดังนั้น ขนบธรรมเนียมและประเพณี รวมถึงเพลง การร่ายรำ และงานวรรณกรรมของชาวบังกลาเทศจึงมีความเป็นมุสลิมและฮินดูค่อนข้างมาก
- การเคารพระดับชั้นและอายุ ชาวบังกลาเทศให้ความเคารพผู้ที่มีระดับชนชั้น ตำแหน่ง และอายุที่สูงกว่า คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมของประเทศมุสลิมอื่นๆ ดังเห็นได้จากการให้อำนาจตัดสินใจต่างๆ รวมถึงการให้อำนาจตัดสินใจทางธุรกิจแก่ผู้มีอาวุโสสูงสุด
- การให้ของขวัญ ธรรมเนียมการให้ของขวัญในบังกลาเทศส่วนใหญ่เป็นการให้ระหว่างบุคคลภายในครอบครัวในช่วงเทศกาลต่างๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการให้ของขวัญวันเกิดเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หากได้รับการเชื้อเชิญไปยังบ้านของชาวบังกลาเทศ การให้ขนมของหวาน หรือช็อกโกแลตชั้นดีแก่เจ้าบ้านถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ควรกระทำ ส่วนการให้ดอกไม้เป็นของขวัญ ควรหลีกเลี่ยงดอกลีลาวดี เพราะเป็นดอกไม้ที่ใช้ในงานศพ เช่นเดียวกับดอกกุหลาบสีขาว ซึ่งสื่อความหมายในทางโศกเศร้าในสายตาของชาวบังกลาเทศ
2. ธรรมเนียมปฏิบัติในการเจรจาธุรกิจ
- ลักษณะการสื่อสาร การเจรจาธุรกิจกับชาวบังกลาเทศอาจต้องอาศัยเวลาและต้องตีความบทสนทนาของชาวบังกลาเทศให้ดี โดยอาจใช้ท่าทางประกอบและถามประเด็นที่สงสัยทันที เพื่อช่วยให้การสื่อสารชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ชาวบังกลาเทศนิยมพูดคุยกับคู่สนทนาในระยะใกล้ แตกต่างจากชาวยุโรปซึ่งนิยมพูดคุยกันโดยเว้นระยะห่างพอสมควร
- ธรรมเนียมการทักทาย ในขณะเจรจาธุรกิจ ชาวบังกลาเทศมีธรรมเนียมการทักทายอย่างเป็นทางการ อาทิ การจับมือทักทายเมื่อพบกันและเมื่อจากลา สำหรับการทักทายสุภาพสตรี ควรใช้การพยักหน้าแทนการจับมือ ยกเว้นสตรีชาวบังกลาเทศจะยื่นมือออกมาก่อนสำหรับคำเรียกสุภาพบุรุษในภาษาบังกลาคือ Bahadur (Sir) ขณะที่ Begum (Madam) ใช้เรียกสุภาพสตรี โดยจะใช้เรียกพร้อมกับนามสกุลของคู่สนทนาหรือไม่ก็ได้
- ธรรมเนียมการแลกนามบัตร ควรแลกนามบัตรด้วยมือขวาหลังจากทักทายกันครั้งแรก เมื่อรับนามบัตรของคู่เจรจาแล้ว ควรสำรวจนามบัตรดังกล่าวด้วยความสนใจ เพราะถือเป็นการให้เกียรติคู่เจรจาทั้งนี้ ชาวบังกลาเทศยกย่องผู้มีระดับการศึกษาสูงค่อนข้างมาก การใส่ข้อมูลระดับการศึกษาไว้บนนามบัตรจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับนักธุรกิจ
- ธรรมเนียมในการประชุม การประชุมในบังกลาเทศส่วนใหญ่เป็นการประชุมเพื่อนำเสนอการตัดสินใจที่ได้เกิดขึ้นแล้วมากกว่าการประชุมเพื่อร่วมกันหาข้อยุติหรือการตัดสินใจ โดยสุภาพบุรุษที่มีอาวุโสสูงสุดมักเป็นผู้นำการประชุม ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมจะค่อนข้างสำรวมและเป็นทางการ การนำเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม โดยเฉพาะการประชุมที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ มักเรียงลำดับตามความอาวุโสหรือตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้ควรระวังการแสดงออกทางสีหน้าหรือท่าทางที่บ่งบอกถึงความไม่พอใจ เนื่องจากจะลดความน่าเชื่อถือและความเคารพจากชาวบังกลาเทศ นอกจากนี้ไม่ควรตอบปฏิเสธคู่เจรจาอย่างตรงไปตรงมาในที่ประชุม แต่ควรใช้เทคนิคการเจรจาอย่างอ้อมๆ แทน
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--