เก็บตกจากต่างแดน: สารพันเกร็ดธุรกิจน่ารู้เกี่ยวกับธรรมเนียมการทักทาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2012 10:51 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกให้ประสบความสำเร็จ นอกจากผู้ประกอบการต้องมีความเชี่ยวชาญในการผลิต การตลาด และการบริหารองค์กร ตลอดจนความรอบรู้เกี่ยวกับระเบียบทางการค้าของประเทศคู่ค้าแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ส่งออกไม่ควรมองข้าม คือ ความเข้าใจวิถีชีวิตและธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศคู่ค้า ซึ่งพบว่าบ่อยครั้งการดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จได้ด้วยเรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้ สำหรับการทักทายถือเป็นด่านแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความประทับใจให้กับคู่เจรจาอันมีส่วนนำไปสู่การสานต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจในระยะยาว ทั้งนี้ โดยทั่วไปการพบปะทางธุรกิจมักนิยมการทักทายแบบสากล คือ การยื่นมือขวามาจับกันและเขย่า แต่หากผู้ประกอบการไทยสามารถทักทายคู่เจรจาได้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมการทักทายของประเทศคู่เจรจา ย่อมก่อให้เกิดความประทับใจได้มากกว่า

สำหรับธรรมเนียมการทักทายของแต่ละประเทศนั้น มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม แม้หลายประเทศนิยมใช้วิธีทักทายแบบสากลนิยมด้วยการจับมือ แต่จะมีคำทักทายที่แตกต่างกันไปตามภาษาของแต่ละประเทศ ดังนั้น เพื่อสร้างความประทับใจแรกพบให้กับคู่เจรจา ผู้ประกอบการควรเรียนรู้เรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ธรรมเนียมการทักทายที่น่าสนใจของแต่ละประเทศมีดังนี้

? ญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นไม่นิยมไหว้เหมือนคนไทย หรือจับมือแบบชาวตะวันตก แต่นิยมทักทายด้วยการโค้งคำนับ ทั้งนี้ การยืนโค้งคำนับมี 3 ระดับ คือ

1) การโค้งคำนับโดยก้มตัวทำมุม 15 องศากับแนวเส้นตรง มักเป็นการโค้งเพื่อทักทายกับคนที่สนิทคุ้นเคยกัน

2) การโค้งคำนับที่ทำมุม 30 องศา เป็นการทำความเคารพแบบทั่วไป อาทิ ระหว่างพนักงานขายและลูกค้า

3) การโค้งคำนับที่ทำมุม 45 องศา เป็นการแสดงความเคารพอย่างนอบน้อม มักใช้กับผู้อาวุโสกว่า หรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า

? ฮ่องกง นิยมจับมือทักทายตามแบบสากล พร้อมทั้งโค้งเล็กน้อย เพื่อแสดงความนับถือ และควรทักทายผู้มีอาวุโสหรือมีตำแหน่งสูงสุดเป็นลำดับแรก นอกจากนี้ ชาวฮ่องกงนิยมแลกเปลี่ยนนามบัตร ผู้ส่งออกจึงควรพกนามบัตรจำนวนมากติดตัวไว้เสมอ และการยื่น-รับนามบัตรควรใช้สองมือ

? อินเดีย ทางตอนเหนือของอินเดีย นิยมทักทายด้วยการยกมือไหว้ พร้อมทั้งกล่าวคำว่า “นมัสเต” ส่วนทางตอนใต้ของอินเดียไม่นิยมยกมือไหว้ แต่นิยมจับมือแบบสากลนิยม พร้อมกล่าวคำทักทายซึ่งแตกต่างกันตามภาษาท้องถิ่น อาทิ รัฐทมิฬนาดูจะทักทายด้วยคำว่า “วานักกำ” อย่างไรก็ตาม ผู้ชายไม่ควรจับมือทักทายกับผู้หญิง เว้นแต่ผู้หญิงจะยื่นมือให้สัมผัสก่อน แต่ควรสัมผัสเฉพาะส่วนที่เป็นนิ้วมือเท่านั้น

? เยอรมนี ควรทักทายด้วยการจับมือแบบสากลพร้อมกล่าวคำทักทายว่า “Guten Morgen” (อ่านว่า กู๊ทเทิ่น มอร์เกิ่นน์) ซึ่งแปลว่าสวัสดี ใช้ระหว่างช่วงเช้า-กลางวัน หรือ “Guten Tag” (อ่านว่า กู๊ทเทิ่น ทาค) สำหรับกล่าวสวัสดีในช่วงบ่าย-เย็น และ “Guten Abend” (อ่านว่า กู๊ทเทิ่น อาเบ้น) เมื่อกล่าวสวัสดีในช่วงเย็น

? ออสเตรเลีย ชาวออสเตรเลียนิยมทักทายชาวต่างชาติตามแบบสากลนิยมด้วยการสัมผัสมือ ทั้งนี้ มีข้อแนะนำว่าระหว่างสัมผัสมือ ควรสบตาและยิ้มให้กับคู่เจรจา เพื่อแสดงถึงความจริงใจ นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการคุ้นเคยกับคู่เจรจาในระดับหนึ่งแล้ว ชาวออสเตรเลียอาจทักทายอย่างคุ้นเคยด้วยคำว่า “G’ Day” มาจากคำว่า Good Day หรือ “G’ Day Mate” หมายถึง สวัสดี ซึ่งผู้ประกอบการควรตอบรับอย่างสุภาพด้วยคำว่า “Hello” หรือ “Hello, How are you?”

? อุซเบกิสถาน โดยทั่วไปผู้ชายชาวอุซเบกิสถานนิยมกล่าวคำทักทายว่า “Salam” ร่วมกับการจับมือทักทายกันและหอมแก้มข้างใดข้างหนึ่ง ทั้งนี้ นามบัตรยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในอุซเบกิสถาน แต่หากผู้ประกอบการต้องการมอบนามบัตร ควรมอบให้ครบทุกคนและมอบด้วยมือขวา

? เปรู ชาวเปรูส่วนใหญ่ทักทายชาวต่างชาติตามแบบสากลนิยมด้วยการสัมผัสมือ ทั้งนี้ เปรูเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ การทักทายจึงใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก อาทิ Buenos Dias (บูเอโนส ดิอาส) หมายถึง สวัสดีตอนเช้า Buenas Tardes (บูเอนาส ตารเดส) หมายถึง สวัสดีตอนบ่าย และ Buenas Noches (บูเอนาส โนเฉช) หมายถึง สวัสดีตอนเย็น

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของผู้ส่งออกหลายรายพบว่า หากผู้ส่งออกใส่ใจตระหนักถึง “ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละประเทศ” ให้มาก และปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันกับคู่เจรจา และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การเจรจาธุรกิจประสบความสำเร็จเท่านั้น ในระยะยาวความสัมพันธ์อันดีดังกล่าวยังอาจกลายเป็นเกราะคุ้มกันที่ช่วยป้องกันมิให้คู่เจรจาของผู้ส่งออกเปลี่ยนไปจับมือทำธุรกิจกับผู้ประกอบการรายอื่น

Disclaimer: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธันวาคม 2555--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ