รัฐบาลเวียดนามเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพลังงานในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบสาธารณูปโภคของประเทศอันเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพลังงานแห่งชาติปี 2554-2563 และวิสัยทัศน์สู่ปี 2573 (The National Master Plan for Power Development for the 2011-2020 Period with the Vision to 2030) หรือที่เรียกว่าแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7 ซึ่งมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7
แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7 มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และการเปิดเสรีตลาดพลังงาน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงการบังคับใช้แผนฯ ฉบับที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ
- บูรณาการการพัฒนาภาคพลังงานเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้มีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ต่อเนื่อง และปลอดภัย ทั้งในภาคเศรษฐกิจและภาคครัวเรือน
- บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรพลังงานในประเทศและพลังงานนำเข้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนปรับสัดส่วนการใช้ทรัพยากรพลังงานสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าและเก็บสำรองเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
- พัฒนาคุณภาพของกระแสไฟฟ้าและบริการด้านไฟฟ้าแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งปรับปรุงอัตราภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนในภาคพลังงานและกระตุ้นให้เกิดการใช้กระแสไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
- พัฒนาภาคพลังงานควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
- สร้างบรรยากาศการแข่งขันในตลาดพลังงาน ด้วยการกำหนดรูปแบบการลงทุนและการค้ากระแสไฟฟ้าที่หลากหลาย (อย่างไรก็ตาม ภาครัฐสามารถผูกขาดได้เฉพาะกิจการที่เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าเท่านั้น เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในระดับประเทศ)
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังระบุเป้าหมายที่ต้องบรรลุในช่วงเวลาต่างๆ ไว้ในแผนฯ ฉบับที่ 7 ดังนี้
- เพิ่มปริมาณกระแสไฟฟ้าทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า จาก 194-210 พันล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2558 เป็น 330-362 พันล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2563 และ 695-834 พันล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2573
- เพิ่มสัดส่วนปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน จากร้อยละ 3.5 ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจากพลังงานทุกรูปแบบในปี 2553 เป็นร้อยละ 4.5 ในปี 2563 และร้อยละ 6 ในปี 2573
- ลดสัดส่วนระหว่างอัตราการขยายตัวของการบริโภคพลังงานต่ออัตราการขยายตัวของ GDP จาก 2 ในปัจจุบัน เป็น 1.5 ในปี 2558 และ 1 ในปี 2563
- ส่งเสริมโครงการนำไฟฟ้าเข้าสู่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล เช่น ภูเขาและเกาะ โดยตั้งเป้าหมายให้ครัวเรือนในชนบททั้งหมดสามารถเข้าถึงกระแสไฟฟ้าได้ภายในปี 2563
กลยุทธ์การพัฒนาพลังงานภายใต้แผนฯ ฉบับที่ 7
แผนฯ ฉบับที่ 7 กำหนดกลยุทธ์เพื่อพัฒนาพลังงานในด้านต่างๆ ดังนี้
- การพัฒนาแหล่งพลังงาน โดยมุ่งเน้นความสมดุลของการพัฒนาแหล่งพลังงานในแต่ละพื้นที่ของประเทศ (ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกพื้นที่มีแหล่งพลังงานอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงทุกประเภทเป็น 75,000 เมกะวัตต์ในปี 2563 และ 146,800 เมกะวัตต์ในปี 2573 โดยกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ดังนี้
เป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ
รายการ ปี 2563 ปี 2573 พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ 6,200 เมกะวัตต์ พลังงานชีวมวล 500 เมกะวัตต์ 2,000 เมกะวัตต์ พลังงานน้ำ 17,400 เมกะวัตต์ - พลังงานน้ำระบบสูบกลับ 1,800 เมกะวัตต์ 5,700 เมกะวัตต์ พลังงานก๊าซ 10,400 เมกะวัตต์ 11,300 เมกะวัตต์ พลังงานถ่านหิน 36,000 เมกะวัตต์ 75,000 เมกะวัตต์ พลังงานนิวเคลียร์ - (เริ่มดำเนินการโรงงานนิวเคลียร์แห่งแรก) 10,700 เมกะวัตต์ พลังงาน LNG 2,000 เมกะวัตต์ 6,000 เมกะวัตต์
ที่มา : Decision No. 1208/QD-TTg, “Approval of the National Master Plan for Power Development for the 2011-2020
Period with the Vision to 2030,” The Socialist Republic of Vietnam
เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามจึงพยายามสร้างความมั่นคงด้านปริมาณถ่านหินด้วยการเร่งเจรจากับประเทศใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย เพื่อนำเข้าถ่านหินอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งพลังงานจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ด้านการเงินแก่บริษัทที่มีการคิดค้นพลังงานทดแทนใหม่และพัฒนาพลังงานทดแทนจากสิ่งเหลือทิ้งจากภาคเกษตรกรรมและขยะในชุมชนเมือง อีกทั้งยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์อย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าหมายเปิดดำเนินการโรงงานนิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศในปี 2563 และผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ให้ได้เป็นสัดส่วนราวร้อยละ 10 ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดในปี 2573
โปรดติดตามตอนต่อไปในวารสารฉบับหน้า
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธันวาคม 2555--