เก็บตกจากต่างแดน: แนวโน้มตลาดผู้บริโภคในเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 30, 2012 14:21 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

แม้เวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีพรมแดนติดกับไทย แต่เวียดนามถือเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่สำคัญ โดยเฉพาะในแง่การค้า เวียดนามเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญอันดับ 9 ของไทยด้วยมูลค่าส่งออกกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามเป็นที่จับตามองของผู้ผลิตสินค้าทั่วโลก เนื่องจากเป็นตลาดที่แม้จะยังมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีลักษณะดึงดูดสำคัญ คือ

? เศรษฐกิจเวียดนามยังขยายตัวต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 6.7 ต่อปีในช่วงปี 2549-2553 และคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.0 ทั้งในปี 2554 และปี 2555

? ยอดจำหน่ายสินค้าในเวียดนามขยายตัวรวดเร็ว รัฐบาลเวียดนามประเมินว่ายอดค้าปลีกในประเทศมีมูลค่า 39.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 5 ปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่ายอดค้าปลีกของเวียดนามจะขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันยอดค้าปลีกต่อประชากรของเวียดนามมีมูลค่า 450 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

? ประชากรเวียดนามยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันเวียดนามมีประชากรเกือบ 89 ล้านคน และมีอัตราการเกิดสูงด้วยประชากรที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคนต่อปี

? ชนชั้นกลางขยายตัว เวียดนามมีกลุ่มชนชั้นกลางราว 7 ล้านครัวเรือน และมีแนวโน้มขยายตัวสูงในระยะข้างหน้า

? การขนส่งสินค้าไปเวียดนามทำได้สะดวก การขนส่งสินค้าจากไทยไปเวียดนามสามารถทำได้สะดวกทั้งเส้นทางทางบกและทางน้ำ โดยเส้นทางทางบกอาศัยเส้นทางผ่าน สปป.ลาว ซึ่งเส้นทางสำคัญ ได้แก่ เส้นทาง R9 [มุกดาหาร(ไทย)-สะหวันนะเขต(สปป.ลาว)-Quag Tri(เวียดนาม)] และเส้นทาง R12 [นครพนม(ไทย)-คำม่วน(สปป.ลาว)-Ha Tinh(เวียดนาม)] ขณะที่การขนส่งทางเรือ สามารถขนส่งจากท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือ Saigon ในนครโฮจิมินห์ ใช้เวลาประมาณ 3 วัน

? ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงเวียดนามมากขึ้น

เมืองสำคัญ 6 แห่ง ครองส่วนแบ่งตลาดจำหน่ายสินค้าถึงร้อยละ 40 ได้แก่

  • Can Tho
  • Da Nang
  • Haiphong
  • Hanci
  • Ho Chi Minh City
  • Nah Trang
แนวโน้มตลาดเวียดนาม

ความเข้าใจถึงรูปแบบการใช้ชีวิต การบริโภค และลักษณะการซื้อสินค้าของชาวเวียดนามจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งที่เป็นผู้ส่งออกและผู้ลงทุนในเวียดนามสามารถวางกลยุทธ์ในการจำหน่ายสินค้าได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มสำคัญของตลาดเวียดนาม ได้แก่

  • โทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อสำคัญด้านการตลาด แม้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตในเวียดนามจะขยายตัวสูง แต่อำนาจการตัดสินใจซื้อสินค้าส่วนใหญ่มาจากหัวหน้าครอบครัว โดยเฉพาะแม่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาดูโทรทัศน์ค่อนข้างมาก ทำให้โทรทัศน์ยังคงเป็นพระเอกของการทำตลาด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไม่อาจมองข้ามสื่อออนไลน์ เนื่องจากคาดว่าสื่อดังกล่าวจะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตผ่านวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม
  • กลุ่มวัยรุ่นเป็นผู้บริโภคสำคัญ เวียดนามมีประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ ประกอบกับอัตราการเกิดของเวียดนามอยู่ในระดับสูง ทำให้กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในตลาดเวียดนาม อาทิ ในตลาดสินค้าแฟชั่นและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม กลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ มีการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมค่อนข้างมาก อีกทั้งได้ซึมซับรสนิยมผ่านสื่อโทรทัศน์ นิตยสาร และสื่อออนไลน์ ทำให้มีแนวโน้มซื้อสินค้าดังกล่าวมากกว่าลูกค้าวัยอื่น
  • สินค้าไฮเทคมีแนวโน้มขยายตัวสูง การขยายตัวของชนชั้นกลางและกลุ่มวัยรุ่นเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าไฮเทค อาทิ คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เนื่องจากสินค้าเหล่านี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน
  • ตลาดยานยนต์ทวีความสำคัญ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่นิยมใช้รถจักรยานยนต์ ทำให้เป็นตลาดส่งออกจักรยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่สำคัญของไทย อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลก็มีแนวโน้มขยายตัวจากการเติบโตของชนชั้นกลาง เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์ราคาแพงซึ่งแม้ตลาดจะยังมีขนาดเล็ก แต่มีแนวโน้มขยายตัวสูง เนื่องจากนับเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม
  • ความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ถือเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน เวียดนามพบปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารถึงราว 3 ล้านกรณีต่อปี ชาวเวียดนามจึงใส่ใจมากขึ้นเกี่ยวกับความสะอาดและความปลอดภัยของอาหารที่บริโภค เช่นเดียวกับรัฐบาลที่มีการสุ่มตรวจอาหารตามสถานที่จำหน่ายในประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่อาจบั่นทอนการเติบโตของตลาดเวียดนาม ได้แก่

ปัญหาเงินเฟ้อ เวียดนามต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อในอัตราร้อยละ 9.0 ในปี 2553 และคาดว่าจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 18.7 ในปี 2554 นั่นหมายถึงความสามารถในการใช้จ่ายของชาวเวียดนามส่วนใหญ่ลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าระดับบนยังมีแนวโน้มดี เนื่องจากกลุ่มคนที่มีรายได้สูงได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อน้อยกว่า และยังยินดีที่จะซื้อสินค้า Brand Name เพิ่มขึ้น เพื่อแสดงฐานะทางสังคม

การเปิดร้านค้าปลีกในเวียดนามยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะร้านค้าปลีกที่ถือหุ้นโดยชาวต่างชาติทั้งหมด เนื่องจากแม้ว่ากฎหมายของเวียดนามจะอนุญาตให้เปิดได้โดยต้องผ่านการขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ แต่จะอนุญาตให้เปิดได้เพียงสาขาเดียวเท่านั้น หากต้องการเปิดเพิ่มต้องผ่านการประเมินความจำเป็นทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Needs Test) ขณะที่การขออนุญาตเปิดร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้ออาจต้องเผชิญกับขั้นตอนการขออนุญาตที่ล่าช้า เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามยังต้องการปกป้องการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มกราคม 2555--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ