รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: เกาะติดแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7 ของเวียดนาม (ตอนจบ)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 30, 2012 14:49 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

กลยุทธ์การพัฒนาพลังงานภายใต้แผนฯ ฉบับที่ 7

นอกเหนือจากการพัฒนาแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้เสมอภาคเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ของประเทศแล้ว แผนฯ ฉบับที่ 7 ของเวียดนามยังกำหนดกลยุทธ์เพื่อพัฒนาพลังงานในด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การพัฒนาเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้า รัฐบาลเวียดนามมุ่งเน้นการลงทุนขยายเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพิ่มความเชื่อมั่นว่าจะมีพลังงานเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศ ลดปริมาณการสูญเสียกระแสไฟฟ้าระหว่างการส่ง และรักษาเสถียรภาพของการส่งกระแสไฟฟ้าในทุกสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังมีแผนจะพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงในระดับ N-1 (หมายถึง ระบบยังสามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ แม้ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น สายส่งกระแสไฟฟ้า หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้งานไม่ได้ 1 ตัว) และสร้างเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ดังนี้
 ขนาดเครือข่าย          หน่วย     ปี 2554-2558     ปี 2559-2563     ปี 2564-2568     ปี 2569-2573
 500 kV substation    MVA      17,100          26,750          24,400          20,400
 220 kV substation    MVA      35,863          39,063          42,775          53,250
 500 kV line          km       3,833           4,539           2,234           2,724
 220 kV line          km       10,637          5,305           5,552           5,020

ที่มา : Decision No. 1208/QD-TTg, “Approval of the National Master Plan for Power Development for the 2011-2020 Period with the Vision to 2030”, The Socialist Republic of Vietnam

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามจะทำการวิจัยเพื่อพัฒนาเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าให้มีระดับแรงดันไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 500 kV ในปัจจุบัน เป็น 750 kV และ 1,000 kV ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

  • การเชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าภายในภูมิภาค รัฐบาลเวียดนามจะเริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้า รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการพึ่งพาประเทศในภูมิภาคอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ดังนี้

สปป.ลาว เชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าขนาด 220 kV และ 500 kV จากทางตอนเหนือของ สปป.ลาว มายังจังหวัด Thanh Hoa จังหวัด Ninh Binh และจังหวัด Son La ของเวียดนาม รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าขนาดเดียวกันจากทางตอนกลางและตอนล่างของ สปป.ลาว มายังจังหวัด Quang Nam และจังหวัด Gia Lai ของเวียดนาม

กัมพูชา เชื่อมโยงการค้ากระแสไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 220 kV และ 500 kV กับกัมพูชา

จีน นำเข้ากระแสไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 110 kV และ 220kV จากจีนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งทำการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเข้ากระแสไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 500 kV และไฟฟ้ากระแสตรง (DC Voltage)

  • การนำกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ครัวเรือนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล นอกจากพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าและเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศแล้ว รัฐบาลเวียดนามยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงกระแสไฟฟ้าของครัวเรือนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล เช่น บริเวณภูเขาและเกาะ เนื่องจากเล็งเห็นถึงบทบาทของครัวเรือนเหล่านี้ในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีส่วนช่วยเกื้อหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าหมายให้ร้อยละ 98.6 ของครัวเรือนในชนบทและพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงกระแสไฟฟ้าได้ภายในปี 2558 และครัวเรือนดังกล่าวทั้งหมดสามารถเข้าถึงกระแสไฟฟ้าได้ภายในปี 2563 เทียบกับที่เข้าถึงกระแสไฟฟ้าร้อยละ 93 ในปี 2554

เพื่อให้แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7 ของเวียดนามสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามกลยุทธ์ที่กล่าวมา รัฐบาลเวียดนามประมาณการว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 48.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจนถึงปี 2563 ซึ่งราว 2 ใน 3 ของเงินจำนวนนี้จะใช้ในการพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าและส่วนที่เหลือจะใช้ในการพัฒนาเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนอีกราว 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงระหว่างปี 2564-2573 ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเช่นเดียวกัน โดยร้อยละ 65.5 จะใช้ในการพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าและส่วนที่เหลือจะใช้ในการพัฒนาเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการระบุแหล่งที่มาของเงินทุนอย่างชัดเจน แต่คาดว่าส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามพยายามดึงดูดด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจพลังงาน เช่น เพิ่มความหลากหลายของรูปแบบการลงทุน ลดการผูกขาดการลงทุนในธุรกิจพลังงานบางสาขา ลดต้นทุนในการระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนด้านพลังงาน และทยอยปรับเพิ่มค่ากระแสไฟฟ้าเป็น 8-9 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงภายในปี 2563 จากค่ากระแสไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2554 ที่ 5.8 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ทั้งนี้ หากรัฐบาลเวียดนามสามารถดำเนินการตามแผนฯ ฉบับที่ 7 ได้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่เวียดนามในฐานะแหล่งดึงดูดการลงทุนที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย โดยเฉพาะด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแผนดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติรวมทั้งนักลงทุนไทยเข้าไปเจาะตลาดธุรกิจพลังงานซึ่งยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมากในเวียดนาม

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มกราคม 2555--

-พห-

แท็ก เวียดนาม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ