ถาม-ตอบ AEC: AEC เพิ่มโอกาสการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 29, 2012 15:43 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ถาม : หากไม่นับรวมสิงคโปร์ซึ่งมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดและมีระดับการพัฒนาประเทศโดดเด่นที่สุดในกลุ่มแล้ว ประเทศใดน่าลงทุนที่สุดในอาเซียน?

ตอบ : ประเทศไทย จากรายงาน Doing Business 2012 ของธนาคารโลก ซึ่งมีการจัดอันดับความเอื้ออำนวยในการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 183 ประเทศ โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ 10 ประการที่มีผลต่อการลงทุน อาทิ การเริ่มก่อตั้งธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การคุ้มครองนักลงทุน การบังคับใช้สัญญา และการจ่ายภาษีเงินได้ เป็นต้น ซึ่งแต่ละปัจจัยมีรายละเอียดปลีกย่อยที่มีนัยสำคัญ เช่น จำนวนขั้นตอน ระยะเวลาดำเนินการ ต้นทุนดำเนินการ ฯลฯ ระบุว่า ประเทศไทยมีความเอื้ออำนวยในการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจมากเป็นอันดับที่ 17 ของโลก และอันดับที่ 2 ของอาเซียน โดยเป็นรองสิงคโปร์เพียงประเทศเดียว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Central Intelligence Agency (CIA) ทั้งนี้ สาขาที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง รองลงมา ได้แก่ บริการ (โดยเฉพาะโรงแรม) ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนจีนมีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้าส่งกลับไปจีนหรือส่งออกไปในอาเซียนและประเทศอื่นๆ ที่มีความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน

ถาม : ทำไมประเทศไทยจึงน่าลงทุนมากเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน?

ตอบ : นอกจากความพร้อมในระดับหนึ่งของระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการลงทุน แรงงานที่มีคุณภาพ และวัตถุดิบเพื่อการผลิตที่อุดมสมบูรณ์แล้ว การขออนุญาตก่อสร้าง การเข้าถึงกระแสไฟฟ้า และการจดทะเบียนทรัพย์สินในประเทศไทยซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของการลงทุน มีขั้นตอนไม่มากและใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่นานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ขณะที่กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมาก ยิ่งไปกว่านั้น หากประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงาน และทุนระหว่างกันมีความเป็นเสรีมากขึ้น ตลอดจนห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ภายในภูมิภาคดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นจากการปรับลดและยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลให้ทุกประเทศสามารถใช้วัตถุดิบร่วมกันได้โดยไม่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้าย ก็จะยิ่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยมากขึ้น

ถาม : การเป็น AEC จะเอื้อประโยชน์แก่อุตสาหกรรมใดของไทยบ้าง?

ตอบ : การเป็น AEC จะช่วยลดข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ รวมทั้งข้อจำกัดด้านนโยบายในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของไทยดังนี้ 1) อุตสาหกรรมการผลิตที่วัตถุดิบในประเทศขาดแคลน เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ในบางฤดูกาล) 2) อุตสาหกรรมการผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอื่นในอาเซียน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ 3) อุตสาหกรรมที่มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง และอุตสาหกรรมพลาสติก 4) อุตสาหกรรมที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม สถานเสริมความงามและสปา โรงพยาบาล และสถานศึกษา เป็นต้น

อันดับประเทศที่น่าลงทุนตามนิยามของธนาคารโลก (แสดงเฉพาะประเทศในอาเซียน)

  อันดับในโลกปี 2555     ประเทศ            มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
          1           สิงคโปร์                              298,700
          17          ไทย                                 115,900
          18          มาเลเซีย                              77,440
          83          บรูไน                                    n.a.
          98          เวียดนาม                              77,950
          129         อินโดนีเซีย                             86,150
          136         ฟิลิปปินส์                               25,270
          138         กัมพูชา                                   n.a.
          165         สปป.ลาว                                 n.a.

หมายเหตุ : - n.a. = not available (ไม่มีข้อมูล)

  • ธนาคารโลกไม่จัดอันดับพม่า
  • ข้อมูลมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553

ที่มา : - Doing Business 2012, World Bank

  • The World Factbook, CIA

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กุมภาพันธ์ 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ