เก็บตกจากต่างแดน: แนวโน้มตลาดผู้บริโภคในอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 15, 2012 15:44 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

อินโดนีเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และการค้ากับไทยมายาวนาน โดยเฉพาะด้านการค้าที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในอาเซียน สังเกตจากมูลค่าส่งออกของไทยไปอินโดนีเซียที่พุ่งแตะระดับ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 และขยายตัวดีต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 27 ต่อปีในช่วงปี 2550-2554 ทั้งนี้ ศักยภาพของตลาดอินโดนีเซียที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้ผลิตสินค้าจากทั่วโลกรวมถึงไทยต่างหมายตาเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ทางการตลาด เพื่อแสวงหาโอกาสและลู่ทางขยายตลาดในอินโดนีเซียมากขึ้น มีดังนี้

-เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวดีต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 5.9 ต่อปีในช่วงปี 2550-2554 และคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.4 ต่อปีในช่วงปี 2555-2558 ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่องทำให้ชาวอินโดนีเซียมีกำลังซื้อสูงขึ้น โดยคาดว่ารายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (Personal Disposable Income) จะเพิ่มขึ้นเป็น 420.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 จากระดับ 289.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554

-อินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยจำนวนประชากรราว 240 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 160 ล้านคนหรือร้อยละ 67 เป็นประชากรวัยทำงานมีอายุระหว่าง 15-64 ปีที่มีกำลังซื้อ ขณะที่ประชากรที่มีรายได้สูงมีจำนวนราว 20 ล้านคน

-อินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลามกว่า 200 ล้านคน หรือราวร้อยละ 10 ของประชากรมุสลิมโลก

-การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 คาดว่าจะช่วยลดภาระต้นทุนและอุปสรรคทางการค้าให้กับผู้ส่งออกไทยและผู้ส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนรวมถึงอินโดนีเซีย

แนวโน้มตลาดอินโดนีเซีย

การศึกษาและทำความเข้าใจถึงโครงสร้างประชากร รูปแบบการใช้ชีวิต วิถีการบริโภค การเลือกซื้อสินค้า และสื่อทางการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางกลยุทธ์การผลิตและส่งออกสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในอินโดนีเซียได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาพื้นที่ทางการตลาดเดิม และสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดผู้บริโภคในอินโดนีเซีย มีดังนี้

-หนุ่มสาววัยเริ่มทำงานมีบทบาทในการกำหนดทิศทางตลาด ชาวอินโดนีเซียเกือบร้อยละ 70 อยู่ในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) ในจำนวนนี้ผู้มีอายุระหว่าง 15-34 ปีมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของประชากรวัยทำงานทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงวัยดังกล่าวเป็นวัยที่เริ่มก้าวเข้าสู่อาชีพการทำงานและมีอำนาจซื้อ อีกทั้งผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังเปิดรับสินค้าใหม่ๆ และตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ง่าย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องสำอาง และเสื้อผ้าแฟชั่น ทั้งนี้ เสื้อสุภาพบุรุษที่กำลังได้รับความนิยม คือ เสื้อแขนยาวทำจากผ้าฝ้ายที่มีลวดลายและสีสันสดใส ขณะที่สตรีวัยทำงานนิยมเลือกซื้อผ้าคลุมหน้าสตรีชาวมุสลิมที่ประดับด้วยคริสตัลและมีสีสันให้เลือกหลากหลายเพื่อให้เข้ากับชุดทำงานที่สวมใส่ในแต่ละวัน

-คู่แต่งงานใหม่ชาวอินโดนีเซียแยกออกมาตั้งครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จากเดิมมักอยู่ร่วมกันกับเครือญาติเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ปัจจัยดังกล่าวนับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดความต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ เตาไมโครเวฟ และเครื่องซักผ้าเพิ่มขึ้น เพราะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทุกบ้านจำเป็นต้องมีไว้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกในครอบครัว จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในการขยายตลาดไปอินโดนีเซีย

-การขยายตัวของชุมชนเมืองสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการบริโภค วิถีชีวิตที่เร่งรีบในเขตเมือง โดยเฉพาะ Jakarta, Surabaya, Medan, Bandung และ Tangerang ทำให้ประชากรวัยแรงงานซึ่งอาศัยอยู่หนาแน่นในเขตพื้นที่ดังกล่าวต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ด้วยการหันมาเลือกซื้ออาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) และอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) มากขึ้น ทดแทนการซื้ออาหารสดมาประกอบอาหารรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้ การที่วัยรุ่นอินโดนีเซียเปิดรับวัฒนธรรมการบริโภคตามแบบตะวันตก และมักใช้เวลาว่างรวมกลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อนทำให้แนวโน้มอาหารทานเล่น (Snack Food) โดยเฉพาะสาหร่ายทอดกรอบปรุงรส และเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink) ที่ปรับรสชาติตรงกับความต้องการของผู้บริโภคอินโดนีเซีย อาทิ เครื่องดื่มชูกำลังที่มีนมเป็นส่วนผสม ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ วิถีการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการขยายการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มประเภทดังกล่าวไปอินโดนีเซียซึ่งประชากรจับจ่ายซื้ออาหารคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด

-ชาวอินโดนีเซียนิยมเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ Makro, Carrefour, Giant และ Hypermarket เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของสินค้ารุ่นใหม่หลากหลายแบรนด์ ทำให้สามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพได้ง่าย ประกอบกับชาวอินโดนีเซียชื่นชอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (In-Store Promotion) อาทิ การลดราคาสินค้า การแจกสินค้าตัวอย่าง และการสาธิตวิธีการใช้สินค้า ผู้ส่งออกจึงควรเลือกซูเปอร์มาร์เก็ตหรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่สำหรับวางจำหน่ายสินค้า หรืออาจติดต่อร้านตัวแทนจำหน่ายโดยตรง เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้า

-โฆษณาทางโทรทัศน์และการส่งข้อความสั้น (SMS) ทางโทรศัพท์มือถือเป็นสื่อการตลาดที่มีอิทธิพลสูง โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าชาวอินโดนีเซียครอบคลุมได้ทุกเพศทุกวัย ขณะที่การประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทำให้สามารถเจาะตลาดได้แพร่หลาย นอกจากนี้ การโฆษณาสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการโฆษณาภาพเคลื่อนไหวและมีเสียงประกอบกำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ นับเป็นสื่อการตลาดที่น่าสนใจหลังจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

-ตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่เติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง ทั้งนี้ The Association of Indonesian Automotive Industries คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ในอินโดนีเซียจะพุ่งแตะระดับ 1 ล้านคันในปี 2558 โดยเฉพาะรถพิกอัปที่มีน้ำหนักบรรทุกต่ำกว่า 5 ตัน แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ คาดว่าจะมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของการขนส่งปาล์มน้ำมันและยางพาราออกจากแปลงเกษตรมายังโรงงาน นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นตลาดรถจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยยอดจำหน่ายราว 8 ล้านคันในปี 2554 และคาดว่าจะยังเติบโตได้ดี เพราะสามารถตอบสนองกับความต้องการใช้ได้ทุกเพศทุกวัย อาทิ วัยรุ่นชาวอินโดนีเซียนิยมขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะคู่ใจไปสถานศึกษา กลุ่มพ่อค้าและนักธุรกิจนิยมเรียกใช้รถจักรยานยนต์รับจ้าง (Ojek) สำหรับบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักไม่มากนักหรือใช้รับส่งเอกสาร ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนิยมเช่ารถจักรยานยนต์สำหรับขับขี่ท่องเที่ยว ปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าวจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของไทยในการขยายตลาดไปอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ แม้อินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพการเติบโต แต่ตลาดอินโดนีเซียยังมีข้อจำกัดสำคัญ อาทิ ระบบสาธารณูปโภคยังมีไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะถนนยังมีไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะที่ถนนสายหลักที่ใช้ขนส่งสินค้าบางเส้นทางมีสภาพทรุดโทรม จนทำให้เกิดความล่าช้าหรือเกิดความเสียหายกับสินค้าระหว่างการขนส่ง นอกจากนี้ การขออนุญาตประกอบธุรกิจมีขั้นตอนที่ต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการหลายแห่ง และต้องใช้เวลาในการพิจารณา อีกทั้งอินโดนีเซียเข้มงวดตรวจสอบสินค้านำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ซึ่งมักมีการสุ่มตรวจเข้มงวดเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มีนาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ