ถาม : อยากทราบว่าการเปิดเสรีบริการด้านการท่องเที่ยวตามกรอบ AEC จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทย?
ตอบ : การเปิดเสรีบริการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้กรอบ AEC ถูกจัดให้อยู่ในสาขาเร่งรัดการรวมกลุ่ม (Priority Integration Sectors : PIS) เช่นเดียวกับภาคบริการอื่นๆ อีก 4 สาขา ได้แก่ คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม บริการสุขภาพ การขนส่งทางอากาศ และโลจิสติกส์ ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดทั้งหมด รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 70 ในปี 2553 (ยกเว้นสาขาโลจิสติกส์ที่กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนเป็นร้อยละ 51 ในปี 2553 และเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ในปี 2563) ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยซึ่งกว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประกอบกับหลายประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้เร่งปรับตัวและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น สอดคล้องกับคาดการณ์ขององค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization : WTO) ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคนในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ก้าวสู่การเป็น AEC อย่างสมบูรณ์ จากระดับเฉลี่ย 67.5 ล้านคนต่อปีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้อาเซียนก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องให้หลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น
ถาม : ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยควรปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดอาเซียน?
ตอบ : ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นทุกขณะ ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัวโดยใช้ประโยชน์จากการเป็น AEC เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด รวมทั้งปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยอาศัยจุดแข็งของภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยเฉพาะการเป็นที่ยอมรับในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม ความมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีของคนไทย การมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และรสชาติอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจท่องเที่ยวไทย รวมทั้งมุ่งเน้นการให้บริการที่ผู้ประกอบการต่างชาติยังให้ความสำคัญไม่มากนัก เช่น การให้บริการที่เป็นมิตรและอบอุ่นดุจดังสมาชิกในครอบครัวพึงปฏิบัติต่อกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรนำเสนอการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในกระแสความสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมและที่พักสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวด้วยการออกแบบโรงแรมที่พักให้มีลักษณะเป็นอาคารประหยัดพลังงานและใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาด แทนการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งมีการจัดการทรัพยากรภายในโรงแรมอย่างคุ้มค่าด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษกระดาษมา Recycle หรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้าและกล่องกระดาษ ขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจบริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยวอาจใช้ยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงจากธรรมชาติเพื่อลดปัญหามลภาวะในอากาศ นอกจากนี้ บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากตลาดอาเซียนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับประชากรชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง นับเป็นการชูจุดเด่นของการให้บริการด้านการท่องเที่ยวของไทยอีกทางหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างจุดขายที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้
ถาม : ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก AEC ในการขยายตลาดไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้อย่างไร?
ตอบ : การบรรลุข้อตกลง AEC จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่มีศักยภาพโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและที่พักสามารถขยายตลาดไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้ โดยเฉพาะเวียดนาม สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ เนื่องจากการแข่งขันในประเทศดังกล่าวยังไม่รุนแรงนัก โดยควรเข้าไปลงทุนในลักษณะเครือข่ายเพื่อประโยชน์ในด้านการทำการตลาด ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการในอาเซียนที่มีจุดแข็งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการให้บริการที่ครบวงจร ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริการและการบริหารจัดการเพื่อผนวกเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวของไทย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอาเซียนได้ หากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและมีความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบจากการเป็น AEC
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด