ถาม-ตอบ AEC: Intra-ASEAN Trade…แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 23, 2012 15:09 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ถาม : Intra-ASEAN Trade คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร?

ตอบ : Intra-ASEAN Trade คือ การค้าภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้ขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยที่เป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญของโลก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ นอกจากนี้ ปัจจุบัน Intra-ASEAN Trade ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดขึ้นในตลาดหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของประเทศเหล่านี้ลดลงมาก ขณะที่ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของคู่ค้ากลับเพิ่มขึ้น การหันมาค้าขายกันเองภายในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเศรษฐกิจได้รับผลกระทบไม่มากนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ประชากรที่มีกำลังซื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น จะช่วยลดการพึ่งพาตลาดหลักและมีส่วนช่วยให้ธุรกิจของผู้ประกอบการสามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา Intra-ASEAN Trade มีบทบาทเพิ่มขึ้นมาก ดังเห็นได้จากสัดส่วนของ Intra-ASEAN Trade ต่อการค้ารวมของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เพิ่มขึ้นจากราว 12% ในปี 2510 ซึ่งเป็นปีแรกที่อาเซียนก่อตั้งขึ้นเป็น 19.2% ในปี 2536 และ 24.5% ในปี 2553 อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเทียบกับการค้าภายในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (Intra-EU Trade) ซึ่งสัดส่วนสูงขึ้นมาโดยตลอดจนปัจจุบันอยู่ที่ราว 65%

ถาม : AEC เอื้อประโยชน์ต่อ Intra-ASEAN Trade อย่างไร?

ตอบ : ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความตกลงลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดัน Intra-ASEAN Trade ให้ขยายตัวเป็นลำดับ นอกจากนี้ ในการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ยังมีการดำเนินการที่เอื้อประโยชน์ต่อ Intra-ASEAN Trade ที่สำคัญ อาทิ

  • การจัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ซึ่งครอบคลุมประเด็นการค้าสินค้าทั้งหมด ทั้งการลดอัตราภาษีนำเข้า มาตรการที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า พิธีการศุลกากร และมาตรการทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ทั้งนี้ ATIGA เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2553
  • การพัฒนาระบบศุลกากรในอาเซียนให้ทันสมัย (ASEAN Customs Modernisation) โดยเร่งรัดปรับปรุงด้านเทคนิคและพัฒนาพิธีการศุลกากรให้สะดวกรวดเร็ว และมีเป้าหมายที่ชัดเจนภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบศุลกากร ได้แก่ การตรวจปล่อยสินค้าภายใน 30 นาที ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาเซียนได้เร่งนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนการตรวจปล่อยสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
  • การจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) เพื่อให้มีการยอมรับร่วมกันของผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนและระยะเวลาในการตรวจสอบสินค้าก่อนวางจำหน่ายหรือนำไปใช้งานในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ทั้งนี้ ปัจจุบันอาเซียนมีการจัดทำ MRAs ใน 2 สาขา ได้แก่ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องสำอาง และอยู่ระหว่างจัดทำ MRAs ในสาขายานยนต์และอาหารแปรรูป

ถาม : Intra-ASEAN Trade มีการค้าขายสินค้าประเภทใดมาก และไทยมีโอกาสขยายตลาดสินค้าประเภทใด?

ตอบ : ปัจจุบันสินค้าส่งออกสำคัญภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เป็นสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ เนื่องจากอาเซียนเป็นฐานการผลิตสินค้าดังกล่าวที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ ยังมีสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตภัณฑ์ไม้ และสินค้าประมง เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าไทยหลายรายการมีโอกาสขยายตลาดในอาเซียน อาทิ เคหะสิ่งทอ

ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขัน ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนผลักดันให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความต้องการเคหะสิ่งทอในหลายประเทศขยายตัวตาม เฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตและความเป็นเมืองเริ่มขยายตัวแทนที่ชนบทมากขึ้น รวมถึงสินค้าที่เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ อาทิ สมุนไพรไทย และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีสารสกัดจากธรรมชาติ เป็นต้น เนื่องจากกลุ่มประชากรผู้สูงอายุในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เมษายน 2555--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ