ถาม-ตอบ AEC: ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2012 12:14 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ถาม : ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในอาเซียน

ตอบ : ก่อนอื่นต้องขอเท้าความก่อนว่าประเทศสมาชิกอาเซียนและธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund : AIF) เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมระหว่างประเทศ และถือเป็นความพยายามที่จะผลักดันแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงกันระหว่างอาเซียน (Master Plan of ASEAN Connectivity : MPC) ให้เป็นรูปธรรม เพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ในเบื้องต้นประเทศสมาชิกอาเซียน (ยกเว้นพม่า) และ ADB รวบรวมเงินจัดตั้งกองทุน AIF มูลค่า 485.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมี ADB เป็นผู้จัดการกองทุน และตั้งเป้าปล่อยกู้ให้แก่โครงการก่อสร้างและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในอาเซียน 6 โครงการต่อปี (ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการนำร่อง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ในปี 2555) รวมทั้งคาดว่ามูลค่าเงินกองทุนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563

                        กองทุน AIF
          ผู้ร่วมลงทุน                    มูลค่าเงินลงทุนตั้งต้น
          กองทุน AIF                   (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
          ASEAN                              335.2
                    - มาเลเซีย                150.0
                    - อินโดนีเซีย               120.0
                    - ฟิลิปปินส์                  15.0
                    - สิงคโปร์                  15.0
                    - ไทย                     15.0
                    - บรูไน                    10.0
                    - เวียดนาม                 10.0
                    - กัมพูชา                    0.1
                    - สปป.ลาว                  0.1
          ADB                                150.0
          รวม                                485.2

ADB คาดว่าในช่วงปี 2553-2563 อาเซียนต้องการเงินลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานถึง 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าอาเซียนยังขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกมาก กองทุน AIF จึงมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ระดับหนึ่ง และผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม

ในประเทศที่ยังขาดแคลน ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะช่วยยกระดับบทบาทของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งของไทยอยู่ตรงกลางเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญหลายเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ เส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก และเส้นทางเศรษฐกิจแนวใต้ อีกทั้งยังอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิง (Singapore-Kunming Rail Link : SKRL) ซึ่งเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายหลักของ 8 ประเทศ (สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม พม่า และจีน) รวมถึงเป็นประตูเชื่อมเส้นทางโลจิสติกส์ทางทะเลระหว่างประเทศอาเซียนในอินโดจีนและประเทศอาเซียน ที่เป็นหมู่เกาะ อาทิ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยถือเป็นท่าเรือหลักที่อยู่ในแผนพัฒนาศักยภาพท่าเรือ 47 แห่งของอาเซียนภายใต้ MPC ด้วย นอกจากนี้ ไทยมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาทางหลวงสายอาเซียนระยะทาง 6,348 กิโลเมตร และติดตั้งป้ายจราจรตามที่อาเซียนกำหนดเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น ทำให้เครือข่ายการคมนาคมของไทยมีความพร้อมสูงที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายที่ขาดหายไป (Missing Link) ภายในภูมิภาค

หากการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในอาเซียนเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับความสะดวกในการนำเข้าวัตถุดิบ รวมถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรราว 600 ล้านคน ทั้งนี้ ในปี 2554 ไทยและอาเซียนมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย และเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ที่ 0.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในภูมิภาคเพื่อขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งไทยมีโอกาสยกระดับเป็นศูนย์กระจายสินค้าระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่น รวมถึงการเป็นประตูของอาเซียน (ASEAN Gateway) เพื่อรองรับ การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามาในอาเซียนเพิ่มขึ้นเมื่อระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานมีความพร้อม โดยเฉพาะการตั้งโรงงานเพื่อเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤษภาคม 2555--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ