เก็บตกจากต่างแดน: จับเทรนด์ตลาดสินค้า Luxury โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2012 13:14 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ปัจจุบันแนวโน้มตลาดสินค้า Luxury เปลี่ยนไปจากอดีตเป็นอย่างมาก จากเดิมที่เคยเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงในสังคม โดยเฉพาะผู้ซื้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ปัจจุบันตลาดเปิดกว้างสำหรับผู้ซื้อรายใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ซื้อในตลาดเกิดใหม่ อาทิ ตะวันออกกลาง จีน อินเดีย และรัสเซีย ทั้งนี้ Stanton Chase International บริษัทที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก ประเมินว่าในทศวรรษที่ 2020 ตลาดสินค้า Luxury จะขับเคลื่อนด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

" สินค้า Luxury หมายถึง สินค้าที่เน้นความหรูหรา ความมีรสนิยม และให้ความสำคัญกับตราสินค้าเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้า อัญมณี และเครื่องประดับ อาทิ สร้อยคอ แหวน กำไล กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา แว่นตา และน้ำหอม "
  • การค้าในยุคโลกไร้พรมแดน (Globalization) การเปิดประเทศและการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศที่ขยายตัวกว้างขึ้นช่วยให้การซื้อขายสินค้า Luxury เติบโตมากขึ้นด้วย เนื่องจากช่วยลดทอนอุปสรรคและข้อจำกัดด้านพรมแดนลง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ถึงแบรนด์สินค้าได้ง่ายขึ้นผ่านการตลาดออนไลน์หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์

-การควบรวมกิจการ (Consolidation) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจะควบรวมกิจการทั้งแนวตั้งและแนวนอนมากขึ้น เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้นและเพิ่มอัตรากำไรแก่กิจการ อาทิ LVMH Richemont และ PPR ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า Luxury รายใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มกลยุทธ์ควบรวมกิจการผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มต่างๆ เข้ามาอยู่ในเครือกิจการของตนมาหลายปีแล้ว อาทิ สินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม

-การกระจายตลาด (Diversification) บริษัทขนาดใหญ่ของโลกเริ่มกระจายความเสี่ยงมากขึ้นในการทำตลาด อาทิ Procter & Gamble (P&G) เดิมมุ่งให้ความสำคัญกับสินค้าในตลาดขนาดใหญ่ (Mass Market) แต่ปัจจุบันเริ่มหันมาสนใจเจาะตลาดสินค้า Luxury มากขึ้น โดยการสร้างแบรนด์สินค้าขึ้นมาใหม่ เพื่อมิให้ผู้ซื้อติดกับภาพลักษณ์สินค้าเดิม ซึ่งนอกจากช่วยกระจายความเสี่ยงของแหล่งรายได้แล้ว ยังมีแรงจูงใจจากอัตรากำไรที่สูงกว่าตลาดขนาดใหญ่ด้วย

แม้ภาพรวมตลาดค่อนข้างซบเซา แต่ตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มเติบโตสูง

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ภาพรวมตลาดสินค้า Luxury ตกอยู่ในภาวะค่อนข้างซบเซามาโดยตลอดจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะผู้ซื้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นผู้ซื้อหลักของสินค้า Luxury อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของผู้ซื้อในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังเห็นจากรายได้ต่อประชากรที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ช่วยพยุงให้ตลาดสินค้า Luxury ไม่หดตัวมากนัก ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้า Luxury ปรับแผนการตลาดมุ่งไปตั้งร้านค้าและตัวแทนจำหน่ายในภูมิภาคดังกล่าวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ Goldman Sachs ประเมินว่าในปี 2553 ผู้ซื้อชาวจีนในตลาดสินค้า Luxury มีส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 25 ของมูลค่าตลาดสินค้า Luxury โลก ขณะที่ผู้ซื้อชาวยุโรปมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21

อย่างไรก็ตาม คาดว่าส่วนแบ่งตลาดผู้ซื้อชาวจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับร้อยละ 46 ภายในปี 2568 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลมูลค่าตลาดสินค้า Luxury ในตลาดเกิดใหม่ในปี 2553 ที่ขยายตัวอย่างมากจากปี 2548 ถึงร้อยละ 43 เทียบกับตลาดยุโรปที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 6

จับตาแนวโน้มสำคัญของสินค้า Luxury ในตลาดเกิดใหม่

ตลาดเกิดใหม่จะก้าวขึ้นมาเป็นตลาดหลักของสินค้า Luxury ในระยะถัดไปท่ามกลางแนวโน้มที่ขั้วเศรษฐกิจโลกจะเอียงเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ BRIC และอาเซียน ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้า Luxury ของไทยจึงควรติดตามกระแสและพฤติกรรมผู้ซื้อของสินค้าในตลาดดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ Neev Capital บริษัทที่ปรึกษาทางการตลาด ประเมินแนวโน้มสำคัญของสินค้า Luxury ในตลาดเกิดใหม่ ดังนี้

-สินค้าที่ผลิตจากวัสดุแวววาว (Bling) อาจไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ผู้ซื้อจะหันไปนิยมสินค้าที่หายาก มีการผลิตจำนวนน้อย และผลิตเป็นรุ่นพิเศษ (Limited or Special Edition)

-สินค้าที่ผลิตในยุโรป “Made in Europe” จะได้รับความนิยมจากผู้ซื้อเป็นพิเศษ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นสินค้าระดับสูงทำให้ผู้ผลิตสามารถตั้งราคาจำหน่ายในระดับสูงได้

-ฐานอายุลูกค้าโดยเฉลี่ยจะลดลง จากเดิมเป็นกลุ่มที่มีอายุค่อนข้างมาก เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มวัยทำงานตอนกลาง โดยเฉพาะพนักงานหรือผู้บริหารระดับกลาง (White-collar Worker or Mid-level Management)

-กระแสสังคมออนไลน์หรือเทคโนโลยีการสื่อสาร เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดการเข้าถึงและรับรู้แบรนด์ของลูกค้า

-ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมจะสั้นลง ผู้ผลิตจะหันมาเปิดร้านค้าจำหน่ายและทำการตลาดเองมากขึ้น จากเดิมต้องพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายหรือร้านที่จัดจำหน่ายพร้อมกันหลายแบรนด์ โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีแบรนด์ติดตลาดแล้ว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของแบรนด์

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤษภาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ