รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: การปฏิรูปโครงสร้างและกฎระเบียบด้านการลงทุนของพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2012 13:11 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การปฏิรูปประเทศของพม่ามีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับอย่างชัดเจน ทำให้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายหรือเตรียมผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรพม่า เช่น สหรัฐฯ ประกาศผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนต่อพม่า เพื่อเปิดทางให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) สามารถเข้าไปประเมินสภาพเศรษฐกิจและให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคอย่างจำกัดแก่พม่าได้ สหภาพยุโรป (European Union : EU) เริ่มยกเลิกคำสั่งห้ามให้ Visa บางประเภทแก่พม่า และญี่ปุ่นเตรียมยกเลิกการระงับการให้สินเชื่อแก่พม่าซึ่งดำเนินมานานถึง 25 ปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปประเทศพม่าในบางแง่มุมยังต้องการการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานเกื้อหนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่าได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ Maplecroft ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงของอังกฤษ ระบุว่ากฎหมายธุรกิจของพม่าอยู่ในอันดับต่ำที่สุดในโลกจากการจัดอันดับทั้งหมด 197 ประเทศ เนื่องจากกฎหมายธุรกิจของพม่าให้ความคุ้มครองบริษัทต่างชาติน้อยที่สุด ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลพม่าต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างรวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่าเพิ่มขึ้นมากการปฏิรูปโครงสร้างและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของพม่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การร่างกฎหมายลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น อาทิ การขยายระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากในช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินโครงการเป็น 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการ การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมด (Wholly Foreign-Owned Enterprises) หรือเป็นกิจการร่วมทุน (Joint Venture) กับนักลงทุนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐบาล โดยมีสัดส่วนเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติอย่างน้อยร้อยละ 35 ของมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้นักลงทุนสามารถเช่าที่ดินจากรัฐบาลพม่าหรือเอกชนที่มีใบอนุญาตใช้ที่ดินได้นานถึง 30 ปี (ขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของโครงการ) และสามารถต่ออายุการเช่าที่ดินได้ 2 ครั้งๆ ละ 15 ปี อีกทั้งยังคุ้มครองโครงการลงทุนโดยรับรองว่าจะไม่ถูกยึดกิจการเป็นของรัฐ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่อนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือ เนื่องจากต้องการพัฒนาทักษะแรงงานชาวพม่า โดยบริษัทต้องฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นให้แก่แรงงานชาวพม่า เพื่อให้มีทักษะในการทำงานอย่างน้อยร้อยละ 25 เมื่อทำงานไปแล้ว 5 ปี และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 และร้อยละ 75 เมื่อทำงานไปแล้ว 10 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ
  • การเตรียมใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว จากปัจจุบันที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ซึ่งใช้มานานกว่า 35 ปี และนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าและการลงทุน เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนทางการซึ่งอยู่ที่ 6.4 จ๊าตต่อดอลลาร์สหรัฐ และอัตราแลกเปลี่ยนตลาดซึ่งอยู่ที่ 800 จ๊าตต่อดอลลาร์สหรัฐ มีความแตกต่างกันมากถึง 125 เท่า ทั้งนี้ ธนาคารกลางพม่าจะเริ่มลอยตัวค่าเงินจ๊าตแบบมีการบริหารจัดการ (Managed Float) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งสำคัญของพม่า และคาดว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนของพม่าจะปรับตัวตามกลไกตลาดอย่างเหมาะสมภายในปี 2557
  • การพัฒนาภาคธนาคารอย่างต่อเนื่อง อาทิ การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์พม่า 11 แห่ง (ได้แก่ Kanbawza Bank, Cooperative Bank, Myanmar Industrial Development Bank, Myawaddy Bank, Inwa Bank, Myanmar Oriental Bank, Asian Green Development Bank, Ayeyawaddy Bank, Myanmar Pioneer Bank, United America Bank และ Tun Foundation Bank) จากทั้งหมด 19 แห่ง ซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ในอัตราเดียวกับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสากลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 ขณะที่ Myanmar Insurance ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลพม่า จะคุ้มครองเงินฝากให้แก่ลูกค้าที่มีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์พม่า 100,000-500,000 จ๊าต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ระบบธนาคารของพม่า นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์พม่า 4 แห่ง ได้แก่ Cooperative Bank, Kanbawza Bank, Asian Green Development Bank และ Ayeyawaddy Bank เริ่มเปิดให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยจัดตั้งสำนักงานตัวแทนที่ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งเอื้อให้แรงงานชาวพม่าที่ทำงานในต่างประเทศสามารถส่งเงินกลับประเทศได้สะดวกขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต่างชาติหลายแห่งเริ่มเข้าไปจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในพม่าแล้ว นับเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ทั้งนี้ หากภาคธนาคารของพม่าได้รับการพัฒนาจนได้มาตรฐานสากล จะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงินในพม่าซึ่งเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนมายาวนาน
  • การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 รัฐบาลพม่าออกกฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone : DSEZ) เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของพม่า เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ล่าสุดรัฐบาลพม่าเตรียมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ Thilawa Special Economic Zone (TSEZ) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ Kyaukphyu Special Economic Zone (KSEZ) รวมทั้งมีแผนจะจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone) เพิ่มขึ้นจาก 18 เขตทั่วประเทศ เป็น 23 เขต เพื่อรองรับการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมของพม่ามีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของ GDP ในจำนวนนี้เป็นของภาคเอกชนถึงร้อยละ 92 ของภาคอุตสาหกรรมพม่าทั้งหมด

แม้ว่าการปฏิรูปประเทศของพม่ามีแนวโน้มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนช่วยให้นักลงทุนต่างชาติ เข้าไปลงทุนในพม่าได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่นักลงทุนไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการที่นักลงทุนทั่วโลกหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในพม่ามากขึ้น นอกจากนี้ ในเบื้องต้นนักลงทุนอาจต้องเผชิญกับปัญหาความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกทั้งกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุนของพม่าที่ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเปิดประเทศ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบประกอบการตัดสินใจเข้าไปลงทุน รวมทั้งควรหาพันธมิตรที่เป็นคนท้องถิ่นที่ไว้ใจได้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานและให้ข้อมูลการลงทุนเชิงลึกยิ่งขึ้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤษภาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ