เก็บตกจากต่างแดน: ตลาดผู้บริโภคในพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 19, 2012 13:15 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และการค้ากับไทยมายาวนาน โดยเฉพาะด้านการค้าที่ทวีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ จนปัจจุบันพม่าก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ ด้วยมูลค่าส่งออกของไทยไปพม่าที่พุ่งแตะระดับ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 31 ต่อปีในช่วงปี 2550-2554 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากพม่าเปิดประเทศต้อนรับการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ศักยภาพของตลาดพม่าที่ดึงดูดให้ผู้ผลิตสินค้าจากทั่วทุกมุมโลกรวมถึงไทยต่างหมายตาอยากเข้าไปปักธงการค้าของตนเพื่อแสวงหาโอกาสและลู่ทางขยายตลาดในพม่า มีดังนี้

  • พม่าเป็นตลาดขนาดค่อนข้างใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรราว 54.5 ล้านคนสูงกว่ากัมพูชาและ สปป.ลาว ขณะที่พม่ามีกำลังซื้อพอสมควร สังเกตได้จากรายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per Capita) ในปี 2555 อยู่ที่ 855 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากระดับ 742 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปีในปี 2553 เมื่อประกอบกับข้อจำกัดของทางเลือกในการบริโภคที่มีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพม่ายังมีแหล่งท่องเที่ยวและสถานบันเทิงไม่มาก ทำให้รายได้ส่วนใหญ่ของชาวพม่าถูกนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันเป็นหลัก
  • พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยเป็นระยะทางมากที่สุดถึง 2,401 กิโลเมตร จึงเอื้อต่อการขนส่งสินค้าผ่านทางการค้าชายแดน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปพม่าเกือบทั้งหมดขนส่งผ่านด่านชายแดนสำคัญ อาทิ ด่านระนอง จ.ระนอง ด่านแม่สอด จ.ตาก ด่านแม่สาย จ.เชียงราย ด่านสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
  • พม่ามีพัฒนาการทางการเมืองดีขึ้นเป็นลำดับ หลังพม่ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2553 และล่าสุดการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นไปอย่างเรียบร้อย สัญญาณดังกล่าวกระตุ้นให้บรรยากาศการค้าและการลงทุนเป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ตลาดสินค้าในพม่ามีโอกาสขยายตัวได้ดีในระยะถัดไป
          ประเทศ          GDP per Capita

(ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี)

          เวียดนาม             1,498
          สปป.ลาว             1,338
          กัมพูชา                 931
          พม่า                   855

หมายเหตุ : * CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม

ที่มา : International Monetary Fund (IMF)

พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวพม่า

การศึกษาและทำความเข้าใจถึงโครงสร้างประชากร วิถีการบริโภค รสนิยม และการเลือกซื้อสินค้าของชาวพม่า จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางกลยุทธ์การผลิตและส่งออกสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในพม่าได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคชาวพม่าที่น่าสนใจ มีดังนี้

  • กลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญ เนื่องจากชาวพม่าเกือบร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจซื้อ โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยแรงงานชาวพม่าล้วนคุ้นเคยกับสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเคยใช้สินค้าดังกล่าวขณะที่ตนเองหรือญาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย อีกทั้งชื่นชอบและเชื่อมั่นต่อคุณภาพของสินค้าไทย ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อซ้ำ ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าซึ่งยังเป็นที่ต้องการอยู่มากของชาวพม่า คือ สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ น้ำตาลทราย น้ำปลา น้ำมันพืช ซอสปรุงรส โดยเฉพาะผงชูรส ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสที่ทุกครัวเรือนต้องมีไว้ใช้ ขณะที่สินค้าอุปโภคที่จำเป็นบางรายการ อาทิ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ผงซักฟอก และรองเท้า ยังเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่องในผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทั้งนี้ ชาวพม่ามีทางเลือกในการใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมบันเทิงไม่มากนัก ทำให้ชาวพม่ามักนำเงินรายได้เกือบทั้งหมดมาใช้จ่ายซื้อสินค้าจำเป็นดังกล่าว สำหรับสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม โดยเฉพาะเครื่องสำอาง อาทิ ครีมบำรุงผิวที่มีสรรพคุณช่วยลบเลือนริ้วรอย หรือช่วยให้ผิวหน้าขาวใส และครีมกันแดด เป็นสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสขยายตัวสูงในตลาดพม่า เนื่องจากหนุ่มสาววัยแรงงานมักนิยมทดลองใช้สินค้าแปลกใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่ายและตัดสินใจซื้อได้ง่าย
" เกร็ดน่ารู้ : พม่ายกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าสินค้า 15 รายการของไทย อาทิ ผงชูรส น้ำหวานและเครื่องดื่ม ขนมปังกรอบ ช็อกโกแลต หมากฝรั่ง ขนมเค้ก ขนมเวเฟอร์ อาหารกระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป เหล้า เบียร์ บุหรี่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลไม้สด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 หลังห้ามนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวมานานกว่า 10 ปี ทั้งนี้ การยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพสูงในการส่งออกไปพม่า คาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นมูลค่าส่งออกสินค้าของไทยไปพม่าในระยะถัดไป..."
  • ตลาดอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องดื่มสำเร็จรูปแบบบรรจุซองหรือกระป๋อง และขนมขบเคี้ยว มีแนวโน้มขยายตัว ตามการขยายตัวของชุมชนเมือง โดยเฉพาะกรุงเนปิดอร์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมียวดี ซึ่งเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานราชการ ย่านธุรกิจ ร้านค้า และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของพม่า ทำให้ประชากรในเมือง โดยเฉพาะข้าราชการและชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ต่างมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบขึ้นเช่นเดียวกับประชากรในเขตเมืองใหญ่ของโลก และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัวหันมาเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น ทดแทนรูปแบบการบริโภคแบบเดิมที่นิยมซื้ออาหารสดมาประกอบอาหารรับประทานที่บ้าน ทั้งนี้ ปัจจุบันชาวพม่าใช้เงินจับจ่ายซื้อสินค้าอาหารคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ รูปแบบของอาหารที่ได้รับความนิยม ได้แก่

-อาหารสำเร็จรูป ที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย คือ อาหารสำเร็จรูปที่ใช้เนื้อไก่เป็นวัตถุดิบในการผลิต เนื่องจากชาวพม่าไม่นิยมบริโภคเนื้อวัว ด้วยความเชื่อทางศาสนาที่ว่าวัวเป็นสัตว์ใช้แรงงานที่มีพระคุณ ขณะที่ชาวพม่าบางส่วนเชื่อว่าการบริโภคเนื้อหมูจะทำให้โชคร้าย อาหารสำเร็จรูปที่ใช้เนื้อไก่เป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยม อาทิ ไก่ย่าง ไก่ทอด ไส้กรอกไก่ และกุนเชียงไก่ โดยเฉพาะไก่ย่างและไก่ทอดเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น

-อาหารพร้อมรับประทาน จำพวกแกงเขียวหวานและแกงกะหรี่บรรจุกล่อง นิยมประเภทที่มีเฉพาะกับข้าว (ไม่มีข้าว) เป็นรายการอาหารพร้อมรับประทานที่ยอดจำหน่ายมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง เพราะเข้ากับวัฒนธรรมการบริโภคของชาวพม่าที่นิยมอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ พึงระวังว่าชาวพม่าไม่นิยมรับประทานอาหารรสหวาน และอาหารที่ใช้ใบกะเพราเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากชาวพม่ามักนำใบกะเพราไปใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง

"...เกร็ดน่ารู้ : บรรจุภัณฑ์สินค้า อาทิ ซอง กล่อง หีบห่อบรรจุสินค้าควรพิมพ์ตราสินค้า และรายละเอียดที่ระบุส่วนประกอบสำคัญ เป็นภาษาไทย เนื่องจากชาวพม่าเชื่อว่าสินค้าที่ผลิตจากไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ..."

-เครื่องดื่มทั้งประเภทบรรจุซองและบรรจุกระป๋อง อาทิ ชา กาแฟสำเร็จรูป และน้ำอัดลม ตลอดจนขนมขบเคี้ยวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เป็นลำดับ โดยเฉพาะชาและกาแฟที่ชาวพม่านิยมดื่มในช่วงพักหลังการทำงานระหว่างวัน อีกทั้งการพบปะเพื่อนฝูงหรือติดต่อธุรกิจยังนิยมนัดพบในร้านจำหน่ายชาและกาแฟ ขณะที่น้ำอัดลมบรรจุกระป๋องและขนมขบเคี้ยวส่วนใหญ่เน้นตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการเปิดประเทศ

..........ข้อสังเกต : ปัจจุบันอุตสาหกรรมในประเทศพม่าผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคป้อนตลาดได้เพียงร้อยละ 20 ของความต้องการทั้งหมด จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทานซึ่งไทยมีศักยภาพสูงในการผลิต.......

  • ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นสื่อการตลาดที่ทรงอิทธิพล โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ใจกลางเมือง บริเวณแยกถนน สามารถสร้างความสนใจดึงดูดผู้บริโภคชาวพม่าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นอีกช่องทางการตลาดที่สามารถใช้เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างแพร่หลาย
  • ตลาดรถยนต์และชิ้นส่วนมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อปีในช่วงปี 2555-2559 ทำให้ชาวพม่ามีกำลังซื้อสูงขึ้น และกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นตาม เพราะปัจจุบันพม่ามีรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนราว 380,000 คัน หรือรถยนต์ 1 คันต่อจำนวนประชากรสูงถึง 150 คน และส่วนใหญ่เป็นรถยนต์มือสองสภาพเก่านำเข้าจากญี่ปุ่น ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) ของไทยเปิดเผยว่าพม่ามีความต้องการนำเข้ารถยนต์จากไทยเฉลี่ยราวปีละ 8 หมื่นคัน โดยเฉพาะรถพิกอัป (Pick-up) เพื่อใช้ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรออกจากแปลงเกษตรเข้าสู่โรงงานแปรรูป นอกจากนี้ รถยนต์ในพม่าส่วนใหญ่เป็นรถยนต์มือสองที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 5 ปี จึงกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อชิ้นส่วนรถยนต์สำหรับซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นตาม ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าวจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปพม่า โดยเฉพาะรถพิกอัปและชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อใช้เป็นอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing : REM) อาทิ เพลา ลูกสูบ ไส้กรองอากาศ โช้กอัป คลัตช์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และยางรถยนต์
  • ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจของพม่าซึ่งภาคเกษตรกรรมมีบทบาทสูงถึงร้อยละ 44 ของ GDP และยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกหลังจากรัฐบาลพม่าให้สัมปทานพื้นที่ทำการเกษตรแก่ชาวต่างชาติ อีกทั้งพม่ามียังพื้นที่ทางการเกษตรจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ปัจจุบันพม่ายังนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ไม่มากนัก สังเกตได้จากอัตราส่วนจำนวนรถแทรกเตอร์ต่อขนาดพื้นที่เพาะปลูกที่ต่ำเพียง 6.9 คันต่อพื้นที่เพาะปลูก 100 ตารางกิโลเมตร เทียบกับไทยที่มีจำนวนรถแทรกเตอร์สูงถึง 546 คันต่อขนาดพื้นที่เท่ากัน ทั้งนี้ เครื่องจักรกลการเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดพม่า อาทิ เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก รถไถนาเดินตาม รถแทรกเตอร์ เครื่องสี และขัดข้าว เครื่องแยกเมล็ดพันธุ์พืช เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องสูบน้ำ และเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงแบบโยกด้วยมือ เป็นที่น่าสังเกตว่า เครื่องจักรกลการเกษตรของไทยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่เกษตรกรชาวพม่า แม้มีราคาจำหน่ายสูงกว่าเครื่องจักรกลการเกษตรของจีน เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นด้านคุณภาพ และอายุการใช้งานที่ยาวนาน ตลอดจนสามารถถอดและประกอบเพื่อซ่อมบำรุงเองได้ง่าย ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พม่านำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยผ่านทางด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี หลังจากนั้นจะถูกส่งต่อไปยังเมืองผาอัน เมาะละแหม่ง และย่างกุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งกระจายสินค้าสำคัญไปยังร้านจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้พม่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก แต่การค้าขายกับพม่ายังมีอุปสรรคและข้อจำกัดสำคัญที่ผู้ส่งออกพึงตระหนักและเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะการปิดด่านชายแดนบ่อยครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสู้รบระหว่างทหารของรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ทำให้การขนส่งสินค้าผ่านบริเวณชายแดนนั้นๆ ต้องสะดุดลง ประกอบกับระบบสาธารณูปโภคยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะถนนยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงเป็นอุปสรรคต่อการกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคชาวพม่า อีกทั้งช่องทางจราจรของถนนสายหลักที่ใช้ขนส่งสินค้ายังแคบและมีสภาพทรุดโทรม อาจทำให้เกิดความล่าช้าและสร้างความเสียหายให้กับสินค้าระหว่างการขนส่ง นอกจากนี้ การขาดแคลนกระแสไฟฟ้า เนื่องจากปริมาณผลิตกระแสไฟฟ้าของพม่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ทำให้มักเผชิญปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มิถุนายน 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ