ถาม : อยากทราบแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยในการก้าวสู่ AEC ?
ตอบ : การก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) นับเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทย เนื่องจากจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงาน เงินลงทุน ฯลฯ เป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบรรดาผู้ประกอบการในประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเตรียมพร้อมและเร่งปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจาก AEC โดยเฉพาะจากภาวะการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจ SMEs จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะมากับ AEC ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การปรับตัวได้ทันท่วงทีไม่เพียงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ แต่ยังเกื้อหนุนให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จาก AEC ได้อย่างเต็มที่
แนวทางในการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC
1. ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต ขณะเดียวกันควรหันมาผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา
2. ผู้ประกอบการควรบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาระดับอัตรากำไรให้สอดคล้องกับการดำรงสภาพคล่องของธุรกิจ นอกจากนี้ การบริหารจัดการต้นทุนที่ดียังมีส่วนช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของปัจจัยภายนอก อาทิ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ผู้ประกอบการที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง
3. ผู้ประกอบการควรศึกษาและเรียนรู้คู่แข่งในธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจของตนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในตลาด AEC มีคู่แข่งใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งคู่แข่งภายในประเทศและคู่แข่งจากต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาจุดแข็งของธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป ขณะเดียวกันต้องแก้ไขจุดอ่อนของธุรกิจให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้สามารถเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรงได้เป็นอย่างดีทั้งจากคู่แข่งในธุรกิจและคู่แข่งใหม่ที่จะก้าวเข้ามาในธุรกิจ
4. ผู้ประกอบการควรมองหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดและเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
นอกจากแนวทางในการปรับตัวที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้ประกอบการควรเร่งศึกษาข้อมูลเชิงลึกในแต่ละประเทศในอาเซียนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก AEC ได้อย่างเต็มที่
ในด้านการค้า เช่น การศึกษาถึงโครงสร้างอายุของประชากร เพื่อทราบถึงลักษณะตลาดในแต่ละประเทศว่าผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าประเภทใด การศึกษาถึงพฤติกรรมและรสนิยมการบริโภค เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่ทันสมัยตามกระแสความนิยมที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว การศึกษาถึงแหล่งวัตถุดิบ เพื่อแสวงหาแหล่งนำเข้าวัตถุดิบในอาเซียนที่มีความได้เปรียบในด้านราคาและคุณภาพ การศึกษาข้อมูลเชิงลึกจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเจาะตลาด AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในด้านการลงทุน ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและสนใจประกอบธุรกิจในต่างประเทศสามารถใช้ประโยชน์จาก AEC ในการขยายการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) ที่ประเทศดังกล่าวได้รับในการส่งออกไปประเทศอื่นๆ นอก AEC อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทางปฏิบัติการขยายการลงทุนไปต่างประเทศจะมีอุปสรรคและขั้นตอนที่ยุ่งยาก อีกทั้งยังมีปัญหาด้านกฎหมายและกฎระเบียบด้านการลงทุนที่เข้มงวด รวมถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และประเพณี แต่ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาข้อมูลต่างๆ อาทิ พื้นฐานทางวัฒนธรรมและประเพณี กฎระเบียบการลงทุน รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เข้าใจภาพรวมและสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของแต่ละประเทศในอาเซียนก่อนตัดสินใจขยายการลงทุน สำหรับแนวทางที่ต้องพิจารณาในการขยายการลงทุนในภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรที่ดี ทำความเข้าใจระบบตลาดและลูกค้า มีความพร้อมในด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาท้องถิ่นและสามารถทำงานภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่าง การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม โดยต้องคำนึงถึงท้องถิ่นที่เข้าไปลงทุนเป็นสำคัญ แนวทางต่างๆ ข้างต้น แม้ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะใช้ได้กับทุกธุรกิจ แต่อย่างน้อยก็เป็นแนวทางเบื้องต้นในการจัดกระบวนทัพของธุรกิจก่อนที่ AEC จะมีผลอย่างสมบูรณ์ในปี 2558
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มิถุนายน 2555--